เมื่อวันที่ 3 ก.พ. เวลา 08.30 น. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช. เป็นประธานการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประมวลข้อมูลด้านความมั่นคงเพื่อส่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย กฟภ. กองทัพบก และหน่วยงานด้านการข่าวเข้าร่วม
ต่อมา นายฉัตรชัย พร้อมด้วยนายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการ กฟภ. ร่วมกันแถลงผลการประชุม โดยนายฉัตรชัย กล่าวว่า ที่ประชุมได้กลั่นกรองข้อมูลด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ ค้ามนุษย์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อส่งให้กระทรวงมหาดไทย และ กฟภ. ใช้ประกอบการพิจารณาตามเงื่อนไขตามกฎหมายและสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทคู่สัญญา โดยข้อมูลที่จะส่งกระทรวงมหาดไทยมี 6 ประเด็น ดังนี้ 1.ข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่ตั้งหลายจุด ซึ่งเชื่อได้ว่ามีหลักฐานระดับหนึ่งที่เกี่ยวพันกับอาชญากรข้ามชาติหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ฝั่งเมืองเมียวดี เมืองพญาตองซู 2.บุคคลที่เกี่ยวบริษัทสัมปทาน อาจเชื่อมโยงแก๊งคอลเซ็นเตอร์และบ่อนกาสิโน ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงกับการจำหน่ายไฟภายในเมียนมา
เลขาธิการ สมช. กล่าวอีกว่า 3.พบว่ามีความต้องการขอใช้ไฟเพิ่มผิดปกติ แต่เราไม่อนุมัติ เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่าเอาไปทำอะไร 4.แม้รัฐบาลไทยและ กฟภ. เคยตัดการจ่ายไฟไปเมืองชเวก๊กโกและเคเคปาร์ค แต่ปรากฏว่าเขายังประกอบกิจการได้ ซึ่งอาจใช้น้ำมันและเครื่องปั่นไฟ 5.พบว่าสัดส่วนการใช้ไฟตามจุดต่างๆ เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา 6.จุดที่เคยถูกตัดไฟไปแล้ว พบหลักฐานบางอย่างว่ามีการหาไฟจากแหล่งอื่นไปทดแทน
นายฉัตรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้ กฟภ. นำข้อมูลไปเจรจากับบริษัทคู่สัญญา เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสม โดยให้เป็นไปตามหลักของสัญญา และตามเงื่อนไขของกฟภ. รวมถึงต้องคำนึงถึงผลกระทบประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย และล่าสุดเป็นเรื่องดีที่กฟภ.ส่งหนังสือแจ้งบริษัทคู่สัญญาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเรากังวลต่อพื้นที่ดังกล่าวมีการใช้ไฟไม่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามสัญญา อีกทั้ง ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับรัฐบาลเมียนมาให้กำชับบริษัทคู่สัญญาที่รัฐบาลเมียนมาอนุมัติให้ทำสัมปทานกับ กฟภ. เพื่อให้รัฐบาลเมียนมาตรวจสอบเรื่องการใช้ไฟที่ไม่เหมาะสม รวมถึงให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับเมียนมา และไปดูว่าพื้นที่จุดไหนมีปัญหา เพื่อให้รับทราบร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นระหว่าง กฟภ. กับคู่สัญญาใน 3 พื้นที่หลัก คือ ท่าขี้เหล็ก-แม่สาย, แม่สอด-เมียวดี และพญาตองซู หลังจากนี้จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานสภาความมั่นคง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่าขณะนี้ถือว่าสิ้นสุดขั้นตอนของ สมช. แล้วหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่โยนเรื่องกันไปมา นายฉัตรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้โยนกันไปมา แต่ต่างคนต่างมีหน้าที่ ซึ่งข้อกฎหมายและกระบวนการเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน ส่วนผู้ที่มีอำนาจในการตัดไฟนั้น ต้องดูข้อกฎหมาย ส่วน กฟภ. จะตัดไฟหรือไม่นั้น ต้องรอผลจากมติที่ประชุมครั้งนี้ว่าไปเจรจาแล้วได้ผลอย่างไร เพื่อมาประเมินอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากส่งเรื่องให้ กฟภ. แล้ว สมช. ประเมินหรือไม่ว่าจะใช้เวลากี่สัปดาห์ในการตัดไฟ นายฉัตรชัย กล่าวว่า จะทำให้เร็วที่สุด เราจะรีบสรุปผลประชุมไป เพื่อจะรีบไปเจรจากับคู่สัญญา โดย กฟภ. จะใช้มติที่ประชุมวันนี้ไปอ้างอิงได้ ได้แก่ ข้อมูลความมั่นคงมติที่ประชุมวันนี้ และระเบียบกฎหมายของ กฟภ. และมติ ครม. ที่เคยอนุมัติให้ขายไฟแก่ประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านนายประสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟภ. มีข้อมูลบริษัทที่ได้สัมปทานจากเมียนมาไปนั้น ถ้าเป็นที่เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน มีอยู่ 1 บริษัท คือ บริษัท อัลลัว กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด และที่แม่สอด จ.ตาก มีทั้งหมด 2 บริษัท ส่วนที่เมืองพญาตองซู เมียนมา ก็มีอีก 1 บริษัท รวมทั้งหมด 4 บริษัท ตอนนี้ ส่วนข้อมูลความมั่นคงจากการที่ได้รับในที่ประชุมมา ก็มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์และ กฟภ. จะนำไปใช้ในการดำเนินการต่อไป เมื่อถามว่าจะใช้ระยะเวลาในการตัดไฟเท่าไหร่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า หากผิดกฎหมาย ก็สามารถตัดได้ แต่ในกระบวนการต่างๆ ต้องมีความรอบคอบรัดกุม และจะดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อถามว่า กฟภ. จะตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า จะต้องให้ สมช. มีมติตั้งคณะกรรมการร่วมกันทุกฝ่าย และจะไปตรวจสอบร่วมกัน เมื่อถามอีกว่าการตรวจสอบเห็นได้ชัดหรือไม่ว่า มีการนำไฟฟ้าไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องตามสัญญา นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ลงไปพื้นที่ แต่ได้มีการเตรียมการจะลงไปในพื้นที่แล้ว ขอย้ำว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนตั้งคำถามว่าขณะนี้มีข้อมูลและหลักฐานเยอะมากพอสมควรแล้ว ถ้า กฟภ. ไปตรวจพื้นที่ จะตัดไฟได้เลยหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เราต้องดูกฎหมายและมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นเราจะเสนอการงดจ่ายไฟและจะมีการไปดำเนินการในเรื่องของนโยบาย หาก ครม. มีมติงดจ่ายไฟ ก็สามารถงดจ่ายไฟได้ทันที
เมื่อถามอีกว่าในส่วนของการลงพื้นที่จะลงไปในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านใช่หรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า จะต้องลงไปตรวจสอบในพื้นที่จริง และถ้ามีการสอบถามบริษัทผู้รับสัมปทานแล้ว ยังไม่มีคำตอบกลับมา เราจะถือว่าเป็นการทำผิดสัญญา และจะทำการงดจ่ายไฟ ถ้าหากตอบกลับมาว่าไม่มี เราก็จะต้องทำการตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ ที่ได้กล่าวมาว่าไม่มีตามที่ระบุ
เมื่อถามอีกว่าในตัวรายละเอียดสัญญา มีการระบุหรือไม่ว่า หากนำไฟฟ้าไปใช้ผิดประเภทจะมีการตัดไฟหรือการเลิกให้บริการ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ในสัญญาระบุว่า หากนำไปใช้และกระทบกับความมั่นคงจะมีการตัดไฟ เมื่อถามต่อว่ามีโอกาสที่จะการกระทบกับความมั่นคง และจะมีการเสนอต่อ ครม. ให้มีมติงดการจ่ายไฟก่อนหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ต้องดูจากหลักฐานทั้งหมดแล้วมารวบรวม ถ้าเป็นการงดจ่ายไฟระดับประเทศ ก็ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.
เมื่อถามอีกว่านายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่ามีแก๊งคอลเซ็นเตอร์พยายามจะขอต่อไฟจากจุดที่เคยถูกตัด นายประสิทธิ์ กล่าวว่า จะมีการขอจริง เราก็ไม่ให้แน่นอน และกำลังจะมีการพิจารณาว่า ไฟฟ้าที่ใช้อยู่นั้น หากมีการหมดสัญญาเราจะใช้เงื่อนไขนี้ในการที่จะไม่จ่ายไฟต่อ ถ้านำไปขายไฟในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย เราจะไม่ต่อสัญญา เมื่อถามว่าระยะสัญญาจะหมดในช่วงปีไหน นายประสิทธิ์ กล่าวว่า สัญญาเป็นสัญญาแต่ละจุดพื้นที่ไป อยู่ที่ระยะเวลา 1-3 ปี แต่ส่วนใหญ่จะ 5 ปี
ขณะที่ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการร่วมกับหน่วยงาน เพื่อตรวจสอบการใช้ไฟฟ้า ว่า หากมีข้อมูลข้อเท็จจริงทางการข่าวชัดเจนว่ามีการนำกระแสไฟฟ้าจากฝั่งไทย ไปใช้ในกิจกรรมที่เป็นอาชญากรรมหรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ กระทรวงมหาดไทย สามารถรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ มาประกอบการพิจารณา เพราะ กฟภ. มีสัญญาที่ระบุไว้ว่า เราสามารถที่จะเลิกหรืองด และบังคับตามสัญญาในการจ่ายกระแสไฟฟ้า
นายชำนาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ถ้าพบว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคง จึงนำข้อมูลเข้ามาพูดคุยกับ สมช. เพื่อรวบรวมข้อมูลให้นายภูมิธรรมให้รับทราบว่าการใช้ไฟในพื้นที่นั้น กระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ ก่อนจะให้ กฟภ. นำข้อมูลไปพิจารณาตามสัญญา ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้หนังสือไปสอบถามหลายหน่วยงานตั้งแต่เดือน ส.ค. 2567
เมื่อถามว่าอำนาจการตัดไฟ แต่อยู่ที่ กฟภ. หรือต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. นายชำนาญวิทย์ กล่าวว่า ต้องดูมติ ครม. เพราะตอนที่อนุญาตให้ขายไฟ ครม. เพราะฉะนั้นการที่จะงดขาย ต้องไปดูว่า ตอนอนุญาตมีเงื่อนไขอย่างไร ซึ่งตามมติ ครม. มีการพูดถึงเรื่องความมั่นคง จึงถูกนำมาเขียนไว้ในสัญญา ทำให้ต้องพ่วงกับ สมช. ดังนั้นเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศจะต้องถามกระทรวงการต่างประเทศ และ สมช. เพื่อนำมาประกอบว่าผิดตามเงื่อนไขหรือไม่ หากพบ ก็สามารถบังคับตามเงื่อนไขได้ทันที ขอย้ำว่าการจะตัดไฟได้ต้องยึดตามสัญญา ซึ่งในสัญญาระบุไว้ประตูเดียว ว่าจะต้องกระทบต่อความมั่นคงเท่านั้น
เมื่อถามย้ำว่าบุคคลที่จะมีอำนาจลงนามการตัดไฟฟ้าคือ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงใช่หรือไม่ นายชำนาญวิทย์ กล่าวว่า “ก็คุม สมช.”