“KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” ประเมินตั้งแต่หลังวิกฤติการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ช้าและต่ำกว่าระดับศักยภาพ การเติบโตที่แตกต่างกันมากในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจำกัดอยู่เพียงบางกลุ่ม ในขณะที่หลายกลุ่มโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาจเรียกว่าอยู่ในภาวะถดถอย ในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายหวังว่าแรงส่งทางบวกจะเอาชนะผลด้านลบโดย 3 ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ (1) การแจกเงินจากภาครัฐ (2) การส่งออกที่เติบโตได้ดี (3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตได้ตามที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมากลับยังคงเติบโตได้ไม่ดีนักและโตต่ำกว่าศักยภาพเดิมที่ 3% KKP Research ตั้งข้อสังเกตว่าการเติบโตที่ต่ำของปี 2567 นี้ ไม่เพียงเกิดจากปัจจัยลบที่มากดดัน แต่เกิดจากปัจจัยบวกไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับที่คาดหวัง

ในช่วงปลายเดือนกันยายน ปี 2567 รัฐบาลมีการดำเนินมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตโดยแจกเงินจำนวน 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 0.7% ของ GDP แต่พบว่าการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในไตรมาส 4 ของปีในภาพรวมมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับการบริโภคในช่วง 3 ไตรมาส ซึ่งหมายถึงการแจกเงินแทบไม่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนไทย ผลทางเศรษฐกิจของมาตรการสอดคล้องกับที่ KKP Research เคยประเมินไว้ว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจจากการแจกเงินในภาวะเศรษฐกิจปกติจะอยู่ในระดับต่ำ โดยประเมินว่าจำนวนเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคใหม่คิดเป็นไม่ถึง 10% ของเงินที่แจกไป

เงินที่ได้รับไปไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของสำนักงานสถิติพบว่าคนสัดส่วนประมาณ 12.8% นำเงินที่ได้รับไปใช้เพื่อชำระหนี้ นอกจากนี้การใช้จ่ายในสินค้าส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายไปกับสินค้าจำเป็นที่มีการใช้จ่ายเดิมอยู่แล้ว จากผลสำรวจพบว่าการใช้จ่ายในการแจกเงินกระจุกตัวอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน และการชำระค่าสาธารณูปโภค นอกจากนี้บางส่วนอาจเก็บเงินที่ได้รับเป็นเงินออม

การใช้จ่ายส่วนหนึ่งอาจเป็นการใช้จ่ายในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sectors) ช่องทางที่มีการนำไปใช้จ่ายมากที่สุด คือ ร้านค้าในชุมชน และหาบเร่แผงลอยเป็นหลัก ทำให้การวัดผลของนโยบายต่อเศรษฐกิจทำได้ยากข้อมูลจาก World Bank ชี้ไทยมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ถึงประมาณ 45% ของ GDP เป็นลำดับที่ 8 ของโลก

ปัจจัยเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังอยู่ในทิศทางขาลงไม่สนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน KKP Research ประเมินว่าทิศทางการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจาก 1) สินเชื่อภาคธนาคารหดตัว 2) รายได้ของครัวเรือนยังคงอ่อนแอ และ 3) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

KKP Research ประเมินไว้ว่าการส่งออกไทยอยู่ในช่วงขาลงจากปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่แย่ลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามในปี 2567 การส่งออกสินค้าของไทยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์กลับเติบโตได้มากถึง 5.4% สูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ประมาณ 2%-3%

ในระยะถัดไปการส่งออกของไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ (1) สินค้าที่ช่วยพยุงการส่งออกไทยในกลุ่ม Rerouting มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากสหรัฐ มีแนวโน้มกีดกันสินค้าที่มีต้นกำเนิดจากจีน อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อดุลการค้าจะไม่รุนแรง (2) สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ อาจเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากการกีดกันทางการค้า (3) สินค้าจากจีนที่จะยังคงเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะหากสหรัฐ มีการปรับขึ้นภาษีกับจีนรุนแรง และ (4) สินค้ากลุ่มที่ไทยมีการตั้งกำแพงภาษีกับสหรัฐ ในระดับสูงอาจถูกต่อรองให้ไทยนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมได้

เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลงในปี 2568 โดยเฉพาะแรงส่งจากภาคบริการที่จะลดลงไปมาก ในขณะที่ปัจจัยลบยังไม่หายไป KKP ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะชะลอตัวลงเล็กน้อยมาที่ระดับ 2.6% โดยตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจสามารถฟื้นตัวได้บ้าง อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าของสหรัฐ ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยหากภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัวและติดลบในอัตราใกล้เคียงกับในปี 2567 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้าลงโดยจะเติบโตได้เพียง 2.0% หรือต่ำกว่านั้น

ประเด็นสำคัญคือ ในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันการประเมินภาพเศรษฐกิจโดยยึดการวัดความสำเร็จผ่านข้อมูลเศรษฐกิจแบบเดิมอาจทำให้การประเมินภาพเศรษฐกิจคลาดเคลื่อนและทำให้มองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง KKP Research ยังคงประเมินว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการรัฐจากทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวระยะสั้น และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าในระยะยาว