ณ อาคารโดมมหิศรบารมี โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” อำเภอแม่สะเรียง ประชาชนกลุ่มสตรีแม่บ้าน ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมในการคัดกรองมะเร็งเต้านมกันเป็นจำนวนมาก โดย นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง ได้เดินทางเป็นประธาน เปิดโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) และโครงการคัดกรองมะเร็งนรีเวช ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส  4 หน่วย 4 ภาค ทั่วประเทศ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ซึ่ง นายแพทย์บัณฑิต ดวงดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สะเรียง นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
            

นายแพทย์ชัยพร พรหมสิงห์  ผู้แทนประธานมูลนิธิกาญจนบารมี กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิกาญจนบารมี จัดกิจกรรมโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม และโครงการคัดกรองมะเร็งนรีเวช ในกลุ่มเสี่ยง และด้อยโอกาสเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี 2568 เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ ให้ประชาชนทั่วไปและสตรีไทยวัยเจริญพันธุ์  มีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธี และคัดกรองค้นหาผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งนรีเวช ให้ได้รับการตรวจด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เมื่อพบความผิดปกติ ได้รับการตรวจวินิจฉัยต่อด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) การตรวจด้วย Colposcope สามารถส่งต่อผู้สงสัยเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งนรีเวชเข้าสู่ระบบ เพื่อได้รับการวินิจฉัย ส่งต่อ และรักษาในลำดับถัดไป โดยกำหนดให้บริการในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 3-6 กุมภาพันธ์  2568
         

โรคมะเร็งเต้านม ถือเป็นโรคมะเร็ง อันดับ 1 ในสตรีไทย ทั้งยังมีผู้ป่วย รายใหม่จากโรคมะเร็งเต้านม 20,000 รายต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมประมาณ 4,400 ราย ผู้หญิงไทยที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ทุกคน สาเหตุการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด การป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือ การตรวจเพื่อค้นหาให้ได้เร็วที่สุด (Early Detection) ซึ่งการตรวจมี 3 วิธี คือ 1) การตรวจเต้านมด้วยตนเอง 2) การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ และ 3) การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) แม้การตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่การให้บริการยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรก ที่ยังไม่มีการลุกลามหรือแพร่กระจาย จะลดความรุนแรงของการเป็นมะเร็งเต้านม และสามารถรักษาหายขาดได้ถึงร้อยละ 80-90 ส่วนมะเร็งอวัยวะสืบพันธ์ุสตรี ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุด ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก พบได้ 17 คน ต่อ 100,000 คน ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจภายใน