ตลอด 36 ปี นับตั้งแต่ปี 2531 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ผลักดันโครงการพัฒนาดอยตุงฯ พัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์ุทุกกลุ่มอายุ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ในด้านเศรษฐกิจ ประชากรดอยตุงมีทรัพย์สินรวม 1,146 ล้านบาท จากประชากรวัยแรงงาน 70% เพิ่มขึ้นจากปี 2531 จำนวน 28 เท่า และหากเปรียบเทียบกับปี 2565 รายได้เพิ่มขึ้น 3.6% และรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน คือ 576,838 บาท มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 1.6 เท่า และมีค่าใช้จ่ายลดลงกว่าปีที่ผ่านมา 23% และหนี้สินลดลง 22% ในขณะเดียวกัน มีเงินออมเพิ่มขึ้น 75%

ด้านสังคม-วัฒนธรรม 96% ของครัวเรือนมีบ้านมั่นคงแข็งแรง และ 99% มีส้วมในบ้าน สำหรับครัวเรือนที่ไม่มีส้วมนั้น ใช้ส้วมร่วมกับญาติ ทางด้านความมั่นคงทางอาหาร ครัวเรือน 99% มีอาหารเพียงพอต่อความต้องการ และ 94% มีน้ำอุปโภคเพียงพอตลอดทั้งปี ส่วน น้ำการเกษตรเพียงพอ 86% ทางด้านสุขภาพ ประชากรดอยตุงมีระบบสาธารณูปโภค และสาธารณสุขสำหรับทุกคน ครอบคลุม 29 หมู่บ้าน ผ่านระบบ รพ.สต. 6 แห่ง กระจายครอบคลุม 29 หมู่บ้าน และระบบ อสม. แต่ละหมู่บ้าน และจากการสำรวจข้อมูลประชากร พบว่า ปัจจุบัน 99% ได้เข้าเรียนในโรงเรียน

ขยายพื้นที่ปลูกป่าปลูกคน

ด้านสิ่งแวดล้อม จากเมื่อเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มีพื้นที่ป่า 28% ปัจจุบัน มีป่ารวม 91% แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 71.8% ป่าเศรษฐกิจ 10.1% และป่าใช้สอย 9.2% โดยจากที่เคยมีพื้นที่ทำกินทำไร่หมุนเวียน 54% ปัจจุบัน มีพื้นที่ทำกิน 5% และขจัดการทำไร่หมุนเวียนและการสลับพื้นที่ทำกิน นอกจากนี้ เรื่องที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ให้ความสำคัญในปัจจุบัน คือ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเกิดจากการดูแลและรักษาป่าของชุมชนและทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ความหลากหลาย ทั้งพรรณพืช พรรณไม้ดอก พรรณต้นไม้ตามธรรมชาติ พรรณสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พรรณสัตว์เลื้อยคลาน พรรณสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พรรณแมลง และพรรณนก ต่างกลับมาในพื้นที่ดอยตุงซึ่งทางโครงการฯ กำลังดำเนินการสำรวจความหลากหลาย และใช้กล้องดักถ่ายสัตว์ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องในการทำ Biodiversity Credit ของประเทศไทย เป้าหมายด้านความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ของโลกให้ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วขึ้น

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าว่า “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ปรับทิศทางการดำเนินงานใหม่ในปี 2568 ให้เข้ากับบริบทสังคมและยุคสมัย มี 4 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานด้านโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างครบวงจร กลุ่มงานด้านธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้แบรนด์ดอยตุง สร้างอาชีพที่มั่นคงและธุรกิจที่ยั่งยืน กลุ่มงานด้านการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติ พัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และ กลุ่มงานด้านที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนองค์กร

ใช้ความสำเร็จ 36 ปีต่อยอดพัฒนา

โดยใช้องค์ความรู้ความชำนาญและประสบการณ์จากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ที่มีมานานถึง 36 ปี และโครงการเชิงพื้นที่ในอดีตและปัจจุบัน เข้ามาดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างพร้อมขยายการพัฒนาไปใช้ทั้งในและต่างประเทศ

“เราปักธงตำราแม่ฟ้าหลวงฯ ให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับโลก ซึ่งไม่ได้ทำแต่เรื่องของความยั่งยืนในไทยเท่านั้นแต่เป็นการนำองค์ความรู้ที่มีไปเผยแพร่ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้หลักการทรงงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้แพร่หลาย โดยนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทั้งเวทีระหว่างประเทศและใช้กับองค์กรต่าง ๆ ให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ”

สำหรับ 4 กลุ่มงานมีการแบ่งบทบาทการทำงานที่ชัดเจนคือ

กลุ่มงานด้านโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างครบวงจรทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ, โครงการร้อยใจรักษ์ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่, โครงการผลิตภัณฑ์แปรรูปป่าเศรษฐกิจ จังหวัดน่าน, โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันและพืชน้ำมันอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนโครงการในต่างประเทศ เช่น เมียนมา อัฟกานิสถาน อินโดนีเซีย เป็นต้น

กลุ่มงานด้านธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้แบรนด์ดอยตุง เน้นการสร้างอาชีพที่มั่นคงและธุรกิจที่ยั่งยืนใน 5 กลุ่มธุรกิจย่อย ได้แก่ อาหารแปรรูป กาแฟและแมคคาเดเมีย หัตถกรรม คาเฟ่ดอยตุง เกษตรและท่องเที่ยว

ลดก๊าซเรือนกระจก-ลดไฟป่า

กลุ่มงานการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากร ธรรมชาติมาปรับใช้กับป่าชุมชนใน พ.ศ. 2563 ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ภาคป่าไม้ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) โดยผลจากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ครอบคลุมพื้นที่  258,186 ไร่ ร่วมกับป่าชุมชน 281 ชุมชน 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร อุทัยธานี กระบี่ ยโสธร อำนาจเจริญ น่าน และลำปาง ประชาชนเข้าร่วมกว่า 150,000 คน และได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานกว่า 25 แห่ง ทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจในการพัฒนาโครงการร่วมกัน เพื่อให้คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้พร้อม ๆ กัน

รวมทั้งมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาคนว่างงาน และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยภาคเอกชนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ด้วย พร้อมยังช่วยลดอัตราการเกิดไฟป่าให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 จากไฟป่า

เปิดงานใหม่รับความต้องการโลก

ขณะที่ กลุ่มงานด้านที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน ที่ถือว่าเป็น นิวเอส เคิร์ฟ ที่สำคัญของมูลนิธิฯ งานที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนถือว่าเป็นกลุ่มงานใหม่ที่เปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะโลกทั้งโลกกำลังมองหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยโลกนี้ได้ ขณะที่แม่ฟ้าหลวงฯ มีโซลูชันบางส่วนที่สามารถตอบโจทย์บางส่วนได้ถ้าธุรกิจเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ผลกระทบเชิงบวกจะกว้างมากขึ้นเหมือนการพัฒนาโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งเป็นโมเดลสำคัญ 100 ดอยตุง เราอยู่ในโลกที่ไม่มีเวลาแล้ว ดังนั้นวันนี้ต้องทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการให้เร็ว กลุ่มงานด้านที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน จะเป็นการนำองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนมาแบ่งปันให้กับภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น ๆ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการเป็นที่ปรึกษาเชิงปฏิบัติการ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านการวางแผนและทวนสอบคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กรและผลิตภัณฑ์ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะสู่บ่อฝังกลบเป็นศูนย์

การทำระบบ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือ การเรียกคืนบรรจุภัณฑ์, ความหลากหลายทางชีวภาพและการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติ ผ่านการประเมินและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การปลูกป่าและฟื้นฟูป่า การจัดการน้ำ, การพัฒนาชุมชน ผ่านการทำความเข้าใจชุมชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การทำโครงการพัฒนาชุมชน เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงบรรเทาปัญหาของประเทศในด้านความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติและความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อแก้ไขปัญหาและเกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน.