เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 68 นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา คุณหมออารมณ์ดีเจ้าของเพจ “หมอเจด” ออกมาให้ความรู้เกี่ยวอาการท้องผูก โดยระบุว่า อาการท้องผูก หรือที่บางคนเรียกว่า โรคอึเต็มท้อง เป็นภาวะที่หลายคนเคยเจอ ซึ่งจะทำให้อุจจาระอุดตัน ทำให้เกิดการไหลย้อนกลับของอุจจาระ และเกิดการตกค้างในลำไส้

หลายคนคิดว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่จริงๆ แล้ว หากปล่อยไว้นาน อาจกลายเป็นปัญหาที่รบกวนชีวิตประจำวันได้มากกว่าที่คิด เดี๋ยววันนี้ผมเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง

1.โรคอึเต็มท้องคืออะไร

ในทางการแพทย์ อาการท้องผูกหมายถึงการที่เราขับถ่ายอุจจาระได้น้อยกว่าปกติ หรือมีความยากลำบากในการขับถ่าย โดยปกติแล้ว คนเราควรขับถ่ายทุกวันหรืออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าน้อยกว่านั้น และอุจจาระแข็ง ถ่ายยาก หรือรู้สึกว่าถ่ายไม่สุด นั่นอาจเป็นสัญญาณของท้องผูกแล้วนะ บางคนอาจคิดว่าท้องผูกเป็นเรื่องของระบบย่อยอาหารเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว มันเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ตั้งแต่อาหารที่กิน พฤติกรรมการใช้ชีวิต ไปจนถึงภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ อาการที่สังเกตได้คือ ท้องผูก ท้องอืด อุจจาระ ท้องเฟ้อ ถ่ายแต่ละครั้งค่อนข้างน้อย เรอเปรี้ยว อาเจียน ตดมีกลิ่นเหม็น

2.สาเหตุของโรคอึเต็มท้อง

สาเหตุของอาการท้องผูกมีหลายอย่าง แต่ที่พบได้บ่อย คือ

1.ท้องผูกจากลักษณะพฤติกรรม
อันนี้ก็เจอได้บ่อยนะครับ พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคอาหารบางอย่างส่งผลต่อระบบขับถ่าย ตัวอย่างเช่น
• การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
• บริโภคคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เช่น ข้าวและแป้ง ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องผูกได้ หากไม่มีไฟเบอร์เพียงพอ
• ดื่มน้ำน้อย น้ำจะเป็นตัวช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี หากดื่มน้ำน้อย อุจจาระจะแห้งแข็งและถ่ายยาก
• การกินอาหารที่ทำให้ลำไส้ทำงานหนักขึ้น เช่น อาหารแห้ง เผ็ด หรือไขมันสูง ซึ่งอาจทำให้การเคลื่อนตัวของอุจจาระในลำไส้ช้าลง

2.ท้องผูกที่เกิดจากมีการอุดกลั้นทางเดินอาหาร
ในบางกรณี ท้องผูกไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมหรืออาหารที่รับประทานเท่านั้น แต่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพที่ทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ เช่น
•ก้อนมะเร็งหรือก้อนเนื้องอกที่อยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้ขับถ่ายลำบาก เบ่งไม่ออก หรือออกได้น้อยมาก
•มุมของลำไส้ใหญ่ที่แคบเกินไป หรือถูกพังผืดรัดจากการผ่าตัดครั้งก่อน ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวลำบาก เวลาขับถ่ายต้องใช้แรงเบ่งมากขึ้น อาจทำให้รู้สึกปวดท้อง

3.ผลกระทบของอึเต็มท้อง

ท้องผูกไม่ได้แค่ทำให้รู้สึกอึดอัดหรือแน่นท้องเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น
• ริดสีดวงทวาร การเบ่งอุจจาระบ่อยๆ และแรงเกินไปอาจทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักโป่งพอง กลายเป็นริดสีดวงทวารได้
• แผลปริที่ทวารหนัก อุจจาระแข็งและการเบ่งแรงอาจทำให้เกิดแผลและมีเลือดออก

ลำไส้แปรปรวน คนที่ท้องผูกเรื้อรังมักมีอาการปวดท้อง ท้องอืด และรู้สึกไม่สบายตัว
• อุจจาระตกค้าง (fecal impaction) เป็นภาวะที่อุจจาระก่อตัวเป็นก้อนแข็งในลำไส้ จนขับถ่ายเองไม่ได้ ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์
• กระทบต่อสุขภาพจิต หลายคนที่มีปัญหาท้องผูก อาจรู้สึกเครียด หงุดหงิด หรือวิตกกังวลเกี่ยวกับการขับถ่าย

4.วิธีป้องกันและรักษา

แต่จริงๆ มันป้องกันและแก้ไขอาการท้องผูก ได้โดยการปรับพฤติกรรมง่ายๆ เช่น
• กินไฟเบอร์ให้มากขึ้น ผัก ผลไม้ และธัญพืชเป็นแหล่งไฟเบอร์ที่ดี ควรกินให้ได้อย่างน้อย 25-30 กรัมต่อวัน
• ดื่มน้ำเยอะๆ : อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือตามความต้องการของร่างกาย
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือโยคะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้
• ฝึกนิสัยการขับถ่าย : ไม่ควรกลั้นอุจจาระ และควรฝึกเข้าห้องน้ำเป็นเวลา เช่น หลังอาหารเช้า
• ใช้โพรไบโอติกส์ช่วยปรับสมดุลลำไส้ จุลินทรีย์ที่ดีจะช่วยลดอาการท้องผูก กระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ ช่วยทำให้อุจจาระนุ่มขึ้น และลดการอักเสบและช่วยให้ลำไส้แข็งแรง

5.เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

แม้ว่าอาการท้องผูกส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่ถ้ามีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์
• ท้องผูกนานเกิน 3 สัปดาห์ โดยไม่ดีขึ้น
• มีเลือดปนมากับอุจจาระ
• ปวดท้องรุนแรงหรือมีอาการแน่นท้องมาก
• น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
• รู้สึกเหมือนมีอะไรมาขวางที่ลำไส้

โรคอึเต็มท้อง หรืออาการท้องผูก อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตได้มากกว่าที่คิด ซึ่งเราป้องกันและรักษาได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน การดื่มน้ำ การออกกำลังกาย และฝึกนิสัยการขับถ่ายที่ดี หากอาการรุนแรงหรือเป็นเรื้อรัง อันนี้ควรตรวจหาความผิดปกติเกินไป.