เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ทำเอาชาวเน็ตต่างแชร์พูดถึงกันเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ ภายหลังจากที่แฟนเพจที่มักพูดถึงเรื่องราวทางการแพทย์อย่าง “Tensia” ได้ออกมาเผยถึงเคสเตือนใจคุณพ่อคุณแม่ โดยระบุว่า “เด็ก 4 ปี เป็นไข้หาสาเหตุไม่ได้ 2 เดือน ตรวจพบก้อนเชื้อเกาะที่ลิ้นหัวใจ โดยเชื้อมาจากฟันผุ” อันตรายจากฟันผุ บางคนอาจจะซวย ลุกลามเข้าเลือด ไปเกาะในผนังชั้นในของหัวใจได้ ดังนั้นการดูแลรักษาฟันเป็นสิ่งสำคัญมากๆ

เคสเด็กญี่ปุ่น 4 ขวบ เป็นไข้มายาวนาน 2 เดือน ตลอดเวลาที่เป็นก็หาสาเหตุมาตลอดก็ไม่เจอ ให้ยาฆ่าเชื้อไป บางทีก็เหมือนไข้ลง แต่หมดคอร์สก็ไข้กลับมา ในที่สุดก็ทำเอคโค่ (Echocardiogram) ตรวจพบก้อนโคโลนีเชื้อ (Vegetation) ที่ลิ้นหัวใจ tricuspid เพาะเชื้อขึ้นเป็นเชื้อ Streptococcus mutans ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในช่องปาก ซึ่งตรงกับในปากของเด็กที่มีฟันผุ และมีการดูแลสุขภาพฟันที่ไม่ค่อยดี

“ฟันผุไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะแบคทีเรียบางชนิด เช่น S. mutans ที่ประสบความสำเร็จในการทะลวงฟัน จะเข้าสู่กระแสเลือดได้ และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้หลายกลไก” แถมมันยังสร้างโปรตีนที่เอาไว้เกาะกับเส้นใยคอลลาเจน (Cnm, Cbm) ด้วย ทำให้ตำแหน่งของหัวใจที่มีผนังบาดเจ็บนิดๆ แล้วมีเส้นใยคอลลาเจนโผล่มา มันสามารถไปเกาะได้ค่ะ และเมื่อมันเกาะได้แล้ว มันจะเริ่มเพิ่มจำนวน กลายเป็นแหล่งที่อยู่ใหม่ของมัน กลายเป็นก้อนๆ เกาะตามตำแหน่งของหัวใจ เช่น ตามลิ้นหัวใจ, ตามผนัง กลายเป็นก้อนที่เรียกว่า Vegetation

เรียกภาวะนี้ว่า ผนังหัวใจชั้นในติดเชื้อ (Infective endocarditis) ซึ่งภูมิคุ้มกันก็พยายามมาจับกิน แต่มันไม่ไหว เพราะมันมีเยอะเกิน ทุกครั้งที่เม็ดเลือดขาวจับกิน ก็จะสร้างสารก่ออักเสบ (IL-1, IL-6, TNF-a) เข้าสู่เลือดตลอด นี่จึงเป็นเหตุให้มีไข้ยาวนานถึง 2 เดือน หากไม่รักษา ก้อน vegetation นี้สามารถหลุดออกไปติดเชื้อตามอวัยวะอื่นได้ (Septic emboli) บางครั้งเชื้อเจริญมากๆ สามารถทำลายโครงสร้างในหัวใจ เกิดลิ้นหัวใจรั่วได้

โดยทั่วไป ในคนปกติเกิดยากหน่อย แต่ในคนที่มีการไหลของเลือดในหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว, ผนังกั้นรั่ว เลือดจะไหลแบบปั่นป่วน (Turbulent flow) ทำให้มีโอกาสทำความเสียหายนิดๆ ให้กับผนังในหัวใจอยู่แล้ว เปิดเส้นใยคอลลาเจนออกมาให้เชื้อเกาะ บางทีก็มีแกนลิ่มเลือดที่พยายามปิดแผล (NBTE) ให้เชื้อที่ผ่านมามาจับได้ค่ะ “ซึ่งในเด็กคนนี้มีผนังกั้นหัวใจห้องล่างมีรูรั่วโดยที่ยังไม่ได้รักษาค่ะ (Ventrocular septum defect)”

ดังนั้นการดูแลสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญมาก เสริมสร้างความแข็งแรงให้ชั้นเปลือกของฟัน (Enamel) เสมอด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์, รักษาความเป็นกรดด่างของช่องปากให้ดี โดยเฉพาะการกินของหวานแล้วไม่แปรงฟัน “เพราะฟันผุ ไม่ใช่แค่ฟัน แต่อาจลามไปอวัยวะอื่นค่ะ” ปล. ภาพประกอบไม่ใช่จากเคสนี้นะคะ แต่เป็นภาพ vegetation ที่ tricuspid valve เหมือนกัน คือ paper นี้เค้าศึกษาเชื้อตัวนี้จากคนไข้คนนี้เฉยๆ ค่ะ..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Tensia