สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ว่าคนหนุ่มสาวที่ย้ายมายังกรุงโตเกียวเพื่อการศึกษาและการทำงาน เป็นปัจจัยหลักซึ่งทำการกระจุกตัวของประชากรในกรุงโตเกียวยังคงดำเนินต่อไป


ในปี 2567 มีผู้ย้ายเข้ากรุงโตเกียวทั้งสิ้น 461,454 คน เพิ่มขึ้น 7,321 คน จากปี 2566 ขณะที่มีผู้ย้ายออกจำนวน 382,169 คน ลดลง 3,679 คน จากปี 2566 ส่งผลให้กรุงโตเกียวมีจำนวนประชากรย้ายเข้าสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สามติดต่อกัน


เมื่อแบ่งตามช่วงอายุ กลุ่มประชากรซึ่งย้ายเข้าสูงสุดคือกลุ่มคนอายุ 20-24 ปี จำนวน 64,070 คน รองลงมาคือกลุ่มผู้มีอายุ 15-19 ปี ซึ่งอยู่ที่ 14,286 คน


สำหรับจังหวัดซึ่งมีประชากรย้ายเข้าสุทธิมากที่สุดรองจากโตเกียว ได้แก่ คานากาวะ ไซตามะ โอซากา ชิบะ ฟุกุโอกะ และยามานาชิ โดยจังหวัดยามานาชิเปลี่ยนจากจังหวัดซึ่งมีประชากรไหลออกมาก มาเป็นจังหวัดที่ประชากรไหลเข้า เมื่อปีที่แล้ว

ในทางกลับกันมี 40 จังหวัดของญี่ปุ่น ซึ่งพบว่ามีสถิติประชากรย้ายออก โดยจังหวัดที่มียอดย้ายออกสูงสุด ได้แก่ ฮิโรชิมะ ไอจิ เฮียวโงะ และชิซูโอกะ


แม้แนวโน้มการกระจุกตัวของประชากรในกรุงโตเกียวยังคงดำเนินต่อไป แต่แนวโน้มการย้ายถิ่นฐานสู่พื้นที่ภูมิภาครอบนอกที่ประชากรไม่หนาแน่นก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยศูนย์สนับสนุนการย้ายถิ่นกลับบ้านเกิด ในกรุงโตเกียว รายงานว่า มีการขอคำปรึกษาด้านการย้ายถิ่นฐานสูงถึง 60,000 ครั้ง เมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 2,000 ครั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า


ทั้งนี้ ข้อมูลพบว่าราว 70% ของผู้ซึ่งต้องการย้ายถิ่นฐาน มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และว่ายอดขอคำปรึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในครอบครัวที่มีบุตร.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : AFP