“โลกยุคดิจิทัล” กำลังถูกขับเคลื่อนด้วย “ข้อมูลขนาดใหญ่” หรือ  “Big Data”  ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้

 Big Data เข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและและพัฒนาสังคมในทุกมิติ จนเกิดคำกล่าวที่ว่า “Data is the new oil” ซึ่งเปรียบข้อมูลดุจขุมทรัพย์ล้ำค่าไม่ต่างจาก ‘น้ำมัน’ และใครที่เข้าถึง ครอบครอง และรู้จักนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ย่อมหมายถึงแต้มต่อ ที่ได้เปรียบคู่แข่งขัน

 เห็นได้จาก ยักษ์ใหญ่ระดับโลกต่างลงสนาม Big Data เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ในภาคธุรกิจ ซึ่งบริษัทระดับโลกหลายแห่ง เช่น Google , Amazon , Alibaba , Facebook , Walmart ,Netflix  และ Starbucks ฯลฯ ล้วนแต่ใช้ Big Data ช่วยวางแผนพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำไปวิเคราะห์ คาดการณ์ และพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดและแคมเปญที่ตอบโจทย์ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการ ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย และความได้เปรียบทางธุรกิจใน “สมารภูมิธุรกิจ” ด้วย

ในส่วนภาครัฐ ของประเทศต่างๆ  ก็ได้มีการนำ Big Data มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ สหรัฐอเมริกา ที่ใช้ Big Data ในการวิเคราะห์และพัฒนานโยบายสาธารณะ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและประชากรเพื่อระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อรับมือกับวิกฤตยาเสพติด การประยุกต์ใช้ข้อมูลจัดการปัญหาความปลอดภัยและรับมือกับภัยพิบัติ

รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล

ขณะที่ จีน ใช้บิ๊กดาต้าในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมข้าว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภค  ด้าน เอสโตเนีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำด้านรัฐบาลดิจิทัล  มีระบบ e-Estonia ที่เชื่อมโยงข้อมูลของประชาชนและบริการภาครัฐทั้งหมด ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใส เช่น การยื่นภาษีออนไลน์ การให้บริการทางสุขภาพ รวมถึงการเลือกตั้งออนไลน์ด้วยระบบ i-Voting

ส่วนเพื่อนบ้านในอาเซียนใกล้ไทย อย่าง สิงคโปร์ ก็ได้นำ Big Data มาใช้วางแผนเมืองอัจฉริยะ (Smart Nation) โดยมีการเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์ทั่วเมือง เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาจราจร การจัดการพลังงาน และวางแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองในระยะยาว

หันมามองประเทศไทย ก็ไม่น้อยหน้า ไม่ยอมตกขบวน ต่อกระแส Big Data ที่มาแรงในยุคนี้ โดยได้มีการจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ขึ้น เมื่อกลางปี 67 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นองค์กรหลักในการผลักดันให้เกิดการนำ Big Data ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลดปัญหาการทำงานแบบแยกส่วนในหน่วยงานภาครัฐ ส่งเสริมการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ ทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมาย “Data-Driven Nation”

สอดรับกับ รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับล่าสุด (e-Conomy SEA 2024 Report) ที่จัดทำโดย Google,Temasek และ Bain & Company ที่คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือ ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทในปี 2567 โดยยังคงมีขนาดใหญ่และเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การก่อตั้ง BDI จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่เข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน  โดย รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ( BDI) บอกว่า  แม้ว่า Big Data จะมีประโยชน์มหาศาล แต่การมีข้อมูลเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะสร้างประโยชน์หรือมูลค่าเพิ่มได้ หากไม่มีการนำไปวิเคราะห์ แปลผล และประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

โดย  BDI ในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรของประเทศ ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน Big Data และ AI ภายใต้วิสัยทัศน์ Data-Driven Nation ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยพลังข้อมูลขนาดใหญ่ สร้างคุณค่าทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มุ่งเน้นส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างระบบการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยง และใช้งานได้จริงในการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน จึงมุ่งพัฒนาระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับการบริหารจัดการ Big Data อย่างยั่งยืน ผ่าน 3 โครงการหลักๆ ดังนี้

1. Project B.I.G. (Big Data Integration and Governance) สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูล: มุ่งรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อการใช้งานที่เป็นระบบ ประกอบด้วยแพลตฟอร์มสำคัญเช่น Health Link เชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ Travel Link โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ และ Envi Link แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย รวมทั้งบริการ Data Analytics และ Data Engineering เพื่อสนับสนุนการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

2. Project Bridge ส่งเสริมการใช้งานข้อมูล: มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการให้เกิดทั้งอุปสงค์และอุปทานด้านข้อมูล ส่งเสริมการใช้ Big Data ในธุรกิจ สร้างเครือข่าย Big Data Ecosystem ส่งเสริมการค้นคว้า และพัฒนา นวัตกรรมด้าน Big Data และ AI เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต และพัฒนา ThaiLLM (Thai Large Language Model) เพื่อรองรับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทย

3. Project Build พัฒนาบุคลากร: พัฒนากำลังคนด้าน Big Data และ AI ผ่านการฝึกอบรม และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เพื่อสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะในด้าน Data Science และ Data Engineering

 สุดท้าย ทาง  BDI ยังคงมุ่งมั่นและวางเป้าหมายในการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสำคัญให้แก่ทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม โดยเน้นการร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน นำพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ “ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล” นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ.