หลังเกิดปรากฏการณ์วัยรุ่นหลายจังหวัดที่มีการเปิดให้เล่น รวมตัวกัน “ออกล่าเหรียญ” ทำภารกิจชนิด “บ้าคลั่ง” ซ้ำยังก่อความวุ่นวายสร้างความเดือดร้อน ด้วยการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคล จนสังคมตั้งคำถามล้ำเส้นเกินไปหรือไม่ และแท้ที่จริงแล้ว “สร้างเงิน” หรือ “สร้างปัญหา” กันแน่

ในเรื่องนี้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. เผยว่า ด้วยลักษณะของแอปพลิเคชั่น Jagat เป็นโซเชียลแอป มี “ฟีเจอร์” ที่ช่วยให้ผู้ใช้ใกล้ชิดกับครอบครัวและเพื่อนด้วยการเชื่อมต่อแบบ “เรียลไทม์” มีการแชร์ตำแหน่ง และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน สามารถรู้ตำแหน่งเพื่อนและคนใกล้ชิดที่ใช้งานแอปนี้ ทั้งยังสามารถสื่อสาร หรือทราบประวัติกิจกรรม รวมถึงส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ จุดเด่นที่ทำให้เป็นที่นิยม คือ ฟีเจอร์ “Jagat Coin Hunt” ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ล่าสมบัติในโลกเสมือนจริง การตามหาเหรียญที่ถูกนำไปซ่อนไว้ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งบางครั้งเป็นพื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่ส่วนตัว แต่หากผู้เล่นอยากได้เบาะแสคำใบ้ ก็ต้องจ่ายหรือเติมเงิน เพื่อให้สามารถรวบรวมเหรียญแปลงเป็นมูลค่าในโลกความจริงได้ ผสมผสานเทคโนโลยีความจริงเสริม (AR) เกม และบล็อกเชนเข้าด้วยกัน ทำให้เกมนี้เป็นมากกว่าเกมทั่วไป

เนื่องจากลักษณะของภารกิจยังทำให้ผู้เล่นสุ่มเสี่ยงจะกระทำความผิดอาญาเสียเอง เช่น ข้อหาบุกรุก หรือทำให้เสียทรัพย์ จากการเข้าไปค้นหาเหรียญในพื้นที่ส่วนบุคคล หรือทำให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นเสียหาย ตลอดจนผู้เล่นจะต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ค้นหาเหรียญได้ง่ายขึ้น

“สิ่งหนึ่งที่อดเป็นห่วงไม่ได้ เมื่อพบว่าแอปดังกล่าว มีการขอสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลในโทรศัพท์มือถือของผู้เล่นหลายอย่าง สุ่มเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว ซ้ำยังขอเข้าถึงพิกัด GPS มือถือของผู้เล่นตลอดเวลา”

นอกจากนี้ รูปแบบเกมยังเข้าข่ายความผิด ข้อหาจัดให้มีการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนี้ประสานกระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบว่าเจ้าของแอปได้ขออนุญาตจัดกิจกรรมเสี่ยงโชคไว้หรือไม่ เพราะหากไม่มีการขออนุญาต จะดำเนินคดีกับเจ้าของแอปตามกฎหมาย พร้อมเสนอปิดแพลตฟอร์ม

เช่นเดียวกับ เส้นเงินที่แอปโอนเงินรางวัลให้กับผู้เล่นที่พบเหรียญ เบื้องต้นเรียกเจ้าของบัญชีธนาคารทั้ง 3 บัญชีมาสอบปากคำ พบว่าได้รับการว่าจ้างในลักษณะการทำงานแบบพาร์ทไทม์ให้กับแอปดังกล่าว โดยมีหน้าที่โอนเงินให้กับคนที่ตามหาเหรียญเจอ

อีกด้าน พ.ต.ท.วสุเทพ ใจอินทร์ รอง ผกก.สายตรวจ ระบุว่า พล.ต.ต.วรวิทย์ ญาณจินดา ผบก.สปพ. สั่งให้กองกำกับการสายตรวจ ยกระดับป้องกันเหตุ โดยออกโรงเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการใช้แอป หลีกเลี่ยงการรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล และเฝ้าระวังภัยจากมิจฉาชีพที่อาจแฝงตัวเข้ามาในพื้นที่ แอปดังกล่าวมาจากประเทศอินโดนีเซีย มีทีมงาน 17 คน เป็นต่างชาติทั้งหมด ไม่ได้จดทะเบียนประกอบธุรกิจในประเทศไทย

“หากโดนนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ จะไม่มีใครสามารถคุ้มครองได้ แอปมีป๊อปอัพให้กดจ่ายเงินเพิ่ม หากอยากได้คำใบ้เพิ่มต้องเสียเงินเพิ่ม ตั้งแต่ 29-300 บาท โดย 300 บาท จะมีแผนที่มาด้วย ทำให้การค้นหาแคบลง หากเผลอกดจะดูดเงินไปโดยไม่รู้ตัว และคนอื่นจะเห็นโลเคชั่นของเรา เสี่ยงเจอมิจฉาชีพระหว่างทางเฝ้าติดตามและฉวยโอกาสลงมือขโมยทรัพย์สินไปได้”

พร้อมระบุ แม้มีผู้ได้รับเงินมีจริง แต่เป็นการโอนจากบัญชีม้า ไม่ใช่บัญชีของบริษัทผู้จัดทำแอป ดังนั้น อาจทำให้ผู้ที่ได้รับเงินนั้นต้องกลายเป็นผู้ที่พัวพันการฟอกเงินด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน