มาถึงวันที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง เมื่อกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 1 ก.พ. เป็นวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 47 จังหวัด ซึ่งนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา ครั้งนี้ถือว่าได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองต่างๆ และสื่อมวลชนมากที่สุด เครดิตตรงนี้ต้องยกให้พรรคสีส้ม หลัง “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งผันตัวมาเป็นประธานคณะก้าวหน้า เคยส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้เกือบ 40 จังหวัด แต่ก็ประสบความล้มเหลว มาถึงเลือกตั้งครั้งนี้ สัญลักษณ์สีส้มมาในนามพรรคประชาชน (ปชน.) โดยลดจำนวนส่งผู้สมัคร เหลือเพียง 17 จังหวัด ซึ่งช่วงแรกถูกคาดหมายว่า อาจไม่ประสบความสำเร็จเลยซักจังหวัด แต่พอมาถึงช่วงโค้งสุดท้าย ด้วยยุทธศาสตร์แกนนำพรรค ปชน. และบรรดาตัวตึงที่เป็นอดีตแกนนำพรรค อนค. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ คณะก้าวหน้า ต่างระดมสรรพกำลังลงพื้นที่อย่างเต็มที่ ประกอบกับศักยภาพของผู้สมัคร ทำให้โค้งสุดท้าย พรรค ปชน.มีลุ้น 5 จังหวัดประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี ระยอง ตราด สมุทรสงคราม นครนายก ซึ่งในที่สุดคงต้องรอดูว่าพรรคแกนนำฝ่ายค้าน จะฝ่ากระแสของบ้านใหญ่ และบล็อกโหวตของพรรคการเมืองต่างขั้วได้หรือไม่

ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของ “พรรค ปชน.” ในอนาคต เพราะยังมีภารกิจสำคัญ คือการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเชื่อว่าเป้าหมายหนีไม่พ้น “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เพราะปีหนึ่งยื่นซักฟอกได้ครั้งเดียว เชื่อว่าคงไม่ต้องการให้กระบวนการตรวจสอบต้องเสียของแน่ๆ หลังก่อนหน้านี้พรรคสีส้มถูกวิจารณ์ ชกไม่เต็มที่ต่อยไม่เต็มหมัด เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ กับ “นายธนาธร” แต่ผลพวงจากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว และการหาเสียงเลือกตั้งในสนามท้องถิ่น อาจทำให้ความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสอง ต้องห่างเหินกัน อีกทั้งผลประโยชน์ทางการเมือง มักไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร ยิ่งทั้ง พท.และปชน. มีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องได้เสียงข้างมาก ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2570 เพื่อกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลอีกครั้ง โดยพรรคสีส้มวางเป้าหมายไว้ที่ 270 เสียง ส่วนพรรคสีแดง ถ้าฟัง “นายทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมีคงหวังได้เกิน 200 เสียง อ้างว่าที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลมีอุปสรรค ไม่ราบรื่น หากพรรค พท.ได้เสียงมากกว่าเดิม ได้เป็นแกนนำฝ่ายบริหาร จะทำให้รัฐบาลทำงานได้ง่ายขึ้น
ต่อจากนี้ไปหลังจากผ่านศึกการเลือกตั้งนายก อบจ. เชื่อว่าทั้ง “พท.” และ “ปชน.” ยังมีภารกิจต้องเผชิญหน้ากันอีก โดยฝ่ายค้านต้องพึ่งกลไกในสภาตรวจสอบฝ่ายบริหาร ต้องรอดูศึกซักฟอกจะเข้มข้นมากน้อยหรือไม่ มีใบเสร็จมายืนยันให้ประชาชนได้เห็นหรือไม่ ส่วนแกนนำรัฐบาลก็ต้องพิสูจน์ผลงานผ่านการบริหารประเทศ จะสร้างการยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ต่อยอดไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผลพวงจากคำปราศรัยของ “นายทักษิณ ชินวัตร” ในระหว่างปราศรัยหาเสียงชิงเก้าอี้นายก อบจ.ที่ จ.เชียงใหม่ ตอนหนึ่งระบุว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าก็ขอให้เลือก พท.ให้หมด ให้ พท.กลับคืนมาเกิน 200 เสียง เพราะคราวที่แล้วได้น้อยไปหน่อย มีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะ ทำงานได้ แต่ช้า คราวหน้าให้มีพรรคร่วมน้อยๆ เอา พท.เยอะๆ เลยมีคำถามว่า จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลหวั่นไหวหรือไม่ เพราะถ้าพรรค พท.ได้เสียงมากเกินครึ่ง ทำให้พรรคการเมืองมีอำนาจต่อรองน้อย หากหวังจะเข้าร่วม
ส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ต้องออกมาให้ความเห็น โดย “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ให้ความเห็นว่า หากทำงานให้ดีก็อาจจะเกิดเหตุการณ์รัฐบาลพรรคเดียวเกิดขึ้นอีกก็ได้ ซึ่งเราไม่มีปัญหาอะไร ก็ว่าไปตามสถานการณ์ ก่อนจะมีพรรคไทยรักไทย (ทรท.) จะมีใครเคยคิดว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งนายทักษิณก็ทำให้เห็นมาแล้ว แต่ที่สำคัญคือจะอยู่ได้นานหรือเปล่า ดังนั้นอะไรที่อยู่ในจุดที่สมดุล อะไรที่ไปด้วยกันแล้วเกิดความสามัคคีปรองดอง ไม่ทำให้เกิดความแตกแยก เอาช้อยส์นั้นดีกว่า

คิดว่าทุกวันนี้รัฐบาลปัจจุบัน ความสัมพันธ์ ความสามัคคี การยอมรับในตัวของนายกฯ ก็มีอยู่แล้ว ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ไม่ช้าหรอกครับ ไม่มีอะไรช้า แต่ตอนนี้การตรวจสอบเยอะ และฝ่ายค้านเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นการทำงานจะต้องมีความระมัดระวัง เราจึงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ด้วย เราอยู่ตรงนี้มา อย่างที่นายทักษิณบอกว่าไม่ได้อยู่ในประเทศไทยมา 17 ปี แต่พวกเราอยู่การเมืองมาโดยตลอด เราจึงมีความรู้สึกชินว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสภาวการณ์ทางการเมือง แต่นายทักษิณเพิ่งกลับมา อาจจะยังไม่ทันใจ เพราะท่านเป็นคนทำงานเร็ว ตัดสินใจเร็ว อีกสักพักทุกคนก็จะต้องปรับตัว
ถือเป็นคำเตือนที่น่าสนใจ กับคำถามที่ว่า จะอยู่ได้นานหรือไม่ อะไรที่อยู่ในจุดสมดุล อะไรที่ทำให้เกิดความสามัคคีปรองดอง ไม่ทำให้เกิดความแตกแยก อย่าลืมว่า ก่อนหน้านั้น ทรท.เคยได้เสียง สส. 377 เสียง หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 แต่ก็นำมาสู่วิบากกรรม ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา ฝ่ายค้านถูกปิดกั้นการตรวจสอบ และนำมาสู่จุดจบรัฐบาล เมื่อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้เทมาเส็ก โดยไม่เสียภาษีเลย นำมาสู่เสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง มีม็อบเสื้อเหลืองออกมาชุมนุมต่อต้าน จนนำมาสู่การรัฐประหารเมื่อ 2549
ส่วนความพร้อมของกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการดูแลการเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิก อบจ. “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. แจกแจงว่า คาดว่าจะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการในเวลาประมาณ 22.00 น. มั่นใจว่าระบบรายงานผลจะไม่มีล่ม ไม่สามารถแฮกข้อมูลได้ ส่วนการดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรมนั้น ทาง กกต.ได้เตรียมการรับมือก่อนการเลือกตั้งมาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยจัดชุดสังเกตการณ์ในพื้นที่ ส่วนกรณีพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง เช่น จ.ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม สงขลา จะมีการส่งชุดสังเกตการณ์ กกต.ส่วนกลางไปดูแลในพื้นที่ไปรวมทีมจังหวัดด้วย รวมทั้งมีการปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมทันกับการกระทำความผิดที่มีการเปลี่ยนแปลง

“คดีการเลือกตั้งจะแตกต่างจากคดีอาญาที่จะมีหลักฐานพยานชัดเจน แต่คดีการเลือกตั้งจะไม่มี การจ้างไปฟังการหาเสียง การซื้อสิทธิขายเสียงเป็นการสมรู้กันไม่มีข่าวหลุดรอดออกมาให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งทราบเลย ดังนั้นเราจึงต้องไปตั้งจุดสกัด โดยเฉพาะในกลุ่มหัวคะแนน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การกระทำผิด เพราะถ้าปล่อยให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น การหาข้อมูลหลักฐานจะทำได้ยาก ซึ่งล่าสุดถึงตอนนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้ว 153 เรื่อง เราก็จะมีการดำเนินการไปพร้อมๆ กับการเลือกตั้ง เป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน” นายแสวง กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีปรากฏคลิปการซื้อสิทธิขายเสียงที่ จ.มหาสารคาม จะเป็นเหตุให้ยุติการเลือกตั้ง อบจ.หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า สำนักงาน กกต.รับเป็นสำนวนแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน รวมถึงกรณีปรากฏคลิปการขนเงินที่จังหวัดปราจีนบุรีนั้น ก็ได้รับเป็นสำนวนเพื่อตรวจสอบแล้วเช่นกัน เมื่อถามว่า กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปราศรัยช่วงตรุษจีนตอนหนึ่งระบุว่าจะมีการแจกเงิน 1 หมื่นบาท เข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า มีคนร้องเรียนเข้ามาแล้ว แต่จะวินิจฉัยช่วงนี้ไม่ได้ ทั้งนี้การกระทำของผู้ช่วยหาเสียงคุณสมบัติคือ ไปช่วยหาเสียง เมื่อมีการร้องเรียนก็ต้องมาดูว่ามีการกระทำจริงหรือไม่ เข้าข้อกฎหมายมีความผิดหรือไม่ ทั้งหมดนี้ต้องรอการรวบรวมพยานหลักฐานอีกครั้ง
ที่น่าสนใจคือความเคลื่อนไหวที่สำนักงาน กกต.ระยอง อ.เมือง จ.ระยอง นายไทยรักดีเดชา สุภานันท์นนท์ เจ้าหน้าที่ กกต.ระยอง ได้รับแจ้งจากนายอิสระ เรืองภูมิ ผอ.การเลือกตั้ง พรรค ปชน.และนายเดชา ทองย้อย ผู้สมัคร ส.อบจ.ระยอง อ.บ้านฉาง เขต 3 ว่า พบการแชตพูดคุยในไลน์ของหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.บ้านฉาง จะมีการแจกเงินซื้อเสียง พร้อมนำหลักฐานพรินต์ข้อความการแชตในไลน์กลุ่มของหมู่บ้านดังกล่าวมามอบให้ด้วย โดยขอให้เจ้าหน้าที่ กกต.ระยอง ไปตรวจสอบด้วยว่าเป็นการทุจริตการเลือกตั้งหรือไม่

นายอิสระ เปิดเผยว่า มีประชาชนแจ้งเข้ามาในไลน์กลุ่มพรรค ปชน. ว่าพบในไลน์กลุ่มหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.บ้านฉาง มีการแชตพูดชัดเจนขอรายชื่อจะไปแจกเงินซื้อเสียง ก็เลยเอารายชื่อมามอบให้กับ กกต. ว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ และข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งหลักฐานที่มอบให้ กกต. จะมีทั้งชื่อหมู่บ้าน ชื่อไลน์กลุ่ม และชื่อบุคคลที่แชตพูดคุย ซึ่งลักษณะบุคคลดังกล่าวคล้ายเป็นหัวคะแนน โดยในกลุ่มไม่ได้มีการระบุจำนวนเงินแต่เป็นการบอกว่าจะนำเงินมาแจก โดยหลักฐานได้มอบให้ กกต.ระยอง เพื่อไปตรวจสอบว่าเข้าข่ายทุจริตเลือกตั้งหรือไม่
ด้านนายไทยรักดีเดชา เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับการประสานจากทางผู้สมัคร ส.อบจ.ระยอง พรรค ปชน. มาก่อนแล้ว ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ได้ลงพื้นที่หาข่าวแล้ว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
คงต้องรอดูกระบวนการตรวจสอบ หลักฐานจะมีน้ำหนักมากแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา กกต.ยังไม่สามารถดำเนินคดีผู้ซื้อเสียงได้เลยซักรายเดียว
“ทีมข่าวการเมือง”