เมื่อวันที่ 31 ม.ค. รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตนได้ประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….” เพื่อให้ทุกสำนักภายใน สกศ. ร่วมกันบูรณาการองค์ความรู้ พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะประเด็นที่เกี่ยวข้องจากร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ซึ่งความเป็นมาและวิวัฒนาการของแผนการศึกษาแห่งชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็น 2 ช่วง คือ 1.ก่อนปี พ.ศ. 2542 มีแผนจำนวน 4 ฉบับ ได้ประกาศเป็นพระราชโองการส่งผลต่อการบังคับใช้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา มีเนื้อหาสั้น กระชับ และไม่ซับซ้อน มีความชัดเจนในแนวคิด ง่ายต่อการจดจำ และไม่มีการระบุเวลาที่สิ้นสุด ไม่ต้องฉายภาพอนาคตระยะไกล 2.ประกาศใช้หลังปี พ.ศ. 2542 มีการประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เนื้อหาส่วนใหญ่ในแผนจะแสดงสภาวการณ์และผลการพัฒนาการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา มีการกำหนดแนวนโยบาย เป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทางการพัฒนา และหน่วยงานรับผิดชอบแบบกว้าง นอกจากนี้ยังกำหนดวิธีการขับเคลื่อนและบริหารแผนสู่การปฏิบัติ การติดตาม การประเมินผล และปัจจัยความสำเร็จ เพื่อให้ที่ประชุมเข้าใจเห็นภาพเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกสู่การพัฒนาร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายประเด็นวิวัฒนาการของแผนการศึกษาชาติและมุมมองต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.ประวิต กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายถึงร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ว่าควรมีเจตนารมณ์ในการชี้ทิศการศึกษาของประเทศ ควรมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ เพื่อเป็นฐานพลังขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติไปพร้อมกันอย่างสมดุล ควรมีองค์ประกอบ 5 ส่วน ได้แก่ 1) หลักการและความมุ่งหมาย 2) ระบบการศึกษา 3) แนวนโยบายการศึกษา 4) แนวทางการพัฒนาการศึกษา 5) แนวทางการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลกระทบเป็นที่รับรู้ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การกำหนดผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย (Ultimate Outcome) ต้องให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่แท้จริงซึ่งจำเป็นต้องอ้างอิงข้อมูลเชิงสถิติและเชิงประจักษ์ สุดท้าย ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าการดำเนินงานจำเป็นต้องบูรณาการองค์ความรู้ของแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันร่างแผนการศึกษา สร้างสรรค์กลยุทธ์ ตรวจสอบความเหมาะสม และประเมินผลอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด

“การประชุมครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานของ สกศ. เพื่อร่วมกำหนดทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและโลก ให้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทยอย่างแท้จริง ด้วยความร่วมมือและข้อมูลเชิงประจักษ์ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “องค์กรคลังปัญญา ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยองค์ความรู้” เพื่อให้ตอบสนองต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ในทุกมิติผ่านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน” เลขาธิการ สกศ. กล่าว