พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. เล่าให้ทีมข่าวชุมชนเมืองเดลินิวส์ ฟังว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ Climate Change ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรอบตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฤดูฝนที่เปลี่ยนไป น้ำแล้งหรือจำนวนน้ำที่เยอะมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งผลกระทบจาก Climate Change นี้ ส่งผลกระทบต่อคนเยอะมากทั้งอากาศที่เปลี่ยนไป เชื้อโรคที่มีมากขึ้น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกตื่นตัวและร่วมมือกันแก้ปัญหานี้

เมื่อหันกลับมามองที่ตัวเรา เราเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการ ช่วยลดการเกิด Climate Change ได้โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว นั่นคือการคัดแยกขยะจากในครัวเรือน ในชุมชน หรือในสถานที่ทำงาน เพราะขยะส่วนหนึ่งคือขยะเปียก เมื่อสะสมจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งก็มีผลต่อชั้นบรรยากาศ อีกส่วนหนึ่งคือขยะที่มีมูลค่า เราก็สามารถแยกได้โดยใช้วิธี 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle ในส่วนของขยะเปียกปัจจุบัน กทม. ทำโครงการไม่เทรวม ส่วน 3R ก็ทำเต็มที่
“การที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต้องเริ่มต้นจากการคัดแยกขยะ เมื่อเริ่มทำ ผลที่ได้รับคือช่วยส่วนรวมในการแก้ปัญหา รวมทั้งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจาก กทม. มีข้อบัญญัติกรุงเทพฯ ออกมาแล้ว หากคัดแยกก็จะเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเท่าเดิม ไม่ต้องจ่ายค่าขยะแพงขึ้น และสามารถช่วย กทม. ในการบริหารจัดการได้ดีขึ้นและบ้านเมืองก็จะดีขึ้น เพราะสามารถนำงบประมาณในส่วนที่ลดลงตรงนี้ไปดำเนินการตรงจุดอื่นพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงเรียนเริ่มคัดแยก สถานประกอบการ ชุมชน วัด ก็ได้เริ่มดำเนินการตรงนี้ ซึ่งบางชุมชนก็เป็นชุมชนเข้มแข็ง เป็นชุมชนต้นแบบในการคัดแยะขยะ”

ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็น ชุมชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางกรุงเทพมหานคร รวมทั้งรางวัลการจัดการขยะ (Zero waste) 1 ใน 5 ระดับประเทศ จากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยาการและสิ่งแวดล้อม ปี 2567 และอีกหลายๆ รางวัล นายธรรมศักดิ์ มากนคร ประธานชุมชนคลองลัดภาชี เล่าว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนบ้านมั่นคงมีทั้ง 79 หลังคาเรือน จำนวนประชากรกว่า 300 คน ในปี 54 เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน กทม. ทำให้ในชุมชนเกิดปัญหาขยะจำนวนมาก ในปี 56 จึงได้ทำโครงการพื้นที่สุขภาวะเพื่อจัดการขยะภายในชุมชน ทั้งการลดการใช้โฟมการใช้ถุงผ้า และเริ่มทำต่อเนื่องมา จนมาถึง ปี 65 ก็ได้มีการส่งเสริมการจัดการขยะแบบเป็นรูปธรรม โดยมีการส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนชาวชุมชนคลองลัดภาชี ในการจัดการขยะ ส่งเสริมความรู้ในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ จากต้นทางและทำแบบครบวงจร โดยให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นายธรรมศักดิ์ เล่าต่อว่า ภายในชุมชนคลองลัดภาชี จะมีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบเริ่มที่บ้านเรือนของประชาชนเองด้วยการคัดแยกทั้งน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร ขวดพลาสติก กล่องกระดาษจากการสั่งซื้อของออนไลน์หรือลังกระดาษต่างๆ ขยะอันตรายหลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ เศษอาหาร ฯลฯ เมื่อแต่ละบ้านคัดแยกแล้วก็นำมาใส่ในถังตามจุดที่ชุมชนกำหนด โดยมีจุดรับซื้อขยะเรียกว่า “ธนาคารขยะ” สำหรับชาวชุมชนคลองลัดภาชี นำขยะเช่น ขวดน้ำพลาสติก ลังกระดาษ น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว มาขายได้ บางคนก็รับเป็นเงินสด แต่บางคนอาจแลกเป็นของใช้ในครัวเรือนไปแทนได้

ส่วนเศษอาหารที่ได้มา จะนำมาเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ส่วนเปลือกผลไม้ต่างๆ ก็ไปทำน้ำหมักจุลินทรีย์ได้ ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้มีการนำน้ำหมักมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด แล้วน้ำหมักยังสามารถน้ำมาเป็นปุ๋ยใช้รดน้ำแปลงผักได้อีกด้วย ซึ่งผักที่ปลูกก็จะเป็นพืชผักสวนครัว ที่ชาวบ้านสามารถมาเก็บไปประกอบอาหารได้โดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อที่ตลาด

นายธรรมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตตั้งเป้าหมายไว้ว่าในชุมชนแห่งนี้ จะมีปริมาณขยะทั่วไปลดลงจนกลายเป็นศูนย์ รวมทั้งจะมีการขยายไปดำเนินการในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การบดการใช้คาร์บอนภายในชุมชน โดยปัจจุบันมีโครงการให้ยืมจักรยาน เพื่อปั่นไปธุระใกล้ๆ ไม่ต้องใช้รถจักรยานยนต์ คือ รถยนต์ โครงการถุงผ้าให้ยืม และโครงการธนาคารเวลา

“ความสำเร็จของชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นได้ เพราะเริ่มจากการพูดคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยชี้ให้เห็นถึงพิษภัยที่เกิดขึ้นใกล้ตัว หากวันนี้เราไม่เริ่มต้นคัดแยก ค่อยๆ ลงมือทำไปพร้อมกัน และมีผลให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าทุกคนสามารถทำได้จริง แยกขยะแล้วมาขายเป็นเงินได้ แยกเศษอาหารได้น้ำหมักมารดผัก ก็กลับมาเก็บผักไปกินได้ ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันทำ และเชื่อว่าเมื่อเราทุกคนทำจนกลายเป็นความเคยชิน สุดท้ายก็จะกลายเป็นการคัดแยกขยะแบบยั่งยืนได้”.


