เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 68 เป็นวันตรุษจีน ซึ่งเป็นวันที่ 5 ที่มีมาตรการส่งเสริมให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะสำหรับรถไฟฟ้าทุกสายทางฟรี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดจากยานพาหนะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้ารวม 2,308,612 คน-เที่ยว สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ) โดยมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 38.99% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันพุธในสามสัปดาห์ของเดือน ม.ค. 68 ที่ผ่านมา (ค่าเฉลี่ยฯ 1,661,031 คน-เที่ยว) และมากกว่าวันอังคาร (28 ม.ค. 68) 146,204 คนเที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 6.76% มีรายละเอียด ดังนี้

1. รถไฟฟ้า Airport Rail Link มีผู้ใช้บริการ 93,669 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 17,862 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 23.56%) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ) 2. รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) มีผู้ใช้บริการ 48,505 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 9,537 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 24.47%) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ) 3. รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) มีผู้ใช้บริการ 696,352 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 184,009 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 35.92%) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ) 4. รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) มีผู้ใช้บริการ 100,210 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 17,305 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 20.87%) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ)
5. รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) มีผู้ใช้บริการ 1,146,883 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 315,303 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 37.92%) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ) และสูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมากว่า 25 ปี 6. รถไฟฟ้าสายสีทอง มีผู้ใช้บริการ 22,481 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 15,686 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 230.85%) ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีทองมีผู้ใช้บริการสูงสุด 48,107 คน-เที่ยว เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 66, 7. รถไฟฟ้าสายนัคราพิพัฒน์ (สีเหลือง) มีผู้ใช้บริการ 85,525 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 38,944 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 83.61%) ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีผู้ใช้บริการสูงสุด 92,038 คน-เที่ยว เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 66 และ 8. รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีผู้ใช้บริการ 114,987 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 48,935 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 74.09%) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ)

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า หากเรียงลำดับตามร้อยละที่เพิ่มขึ้น จะพบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองเพิ่มขึ้นเกือบ 2.31 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยสามวันอังคารที่ผ่านมา รองลงมาคือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู เพิ่มขึ้น 83.61% และ 74.09% ตามลำดับ และยังส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามากสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ) รวม 6 สายทาง ได้แก่ สายสีชมพู สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) สายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) สายสีแดง (สายนครวิถีและสายธานีรัถยา) Airport Rail Link และสายสีม่วง (สายฉลองรัชธรรม)
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับรถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้บริการรวม 210 ขบวน มีผู้ใช้บริการ 74,252 คน-เที่ยว ประกอบด้วย ผู้โดยสารขบวนรถเชิงพาณิชย์ 24,935 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 49,317 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยฯ 4,318 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 6.17% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันพุธสามสัปดาห์ของเดือน ม.ค. 68 ทั้งนี้ ภาพรวมวันที่ 29 ม.ค. 68 มีผู้ใช้บริการระบบรางรวม 2,382,864 คน-เที่ยว สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ) เพิ่มขึ้น 651,899 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 37.66% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันพุธสามสัปดาห์ของเดือน ม.ค. 68 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสะสม 5 วัน ตามมาตรการรถไฟฟ้าฟรี มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวม 9,753,679 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากช่วงวันเดียวกันของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,657,939 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 37.46% (วันที่ 18-22 ม.ค. 68 รวม 5 วันก่อนมีมาตรการฯ มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า รวม 7,095,740 คน-เที่ยว)
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า สำหรับวันที่ 31 ม.ค. 68 เป็นวันศุกร์สิ้นเดือน และเป็นวันสุดท้ายที่ขึ้นรถไฟฟ้าตามมาตรการฯ ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งเป็นวันแรกที่มีการจัดงานเกษตรแฟร์ (งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-8 ก.พ. 68) คาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าสูงที่สุด ขร. จึงประสานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเตรียมความพร้อมการจัดการที่สถานีใกล้เคียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มความถี่ในการให้บริการเพิ่มเติม เพิ่มช่องทางการออกบัตร/เหรียญโดยสารเพิ่มเติม สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งในกรณีที่สถานีรถไฟฟ้ามีผู้โดยสารหนาแน่น จะจัดลำดับการเข้าใช้บริการของผู้โดยสาร (Group Release) เพื่อควบคุมปริมาณผู้ใช้บริการไม่ให้เกิดความแออัด ทั้งในสถานีและในขบวนรถไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้บริการระบบรางได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสูงสุดต่อไป.