นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานบอร์ด รฟท. เป็นประธาน เห็นชอบยกเลิกมติบอร์ด รฟท. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 63 และเห็นชอบให้ รฟท. ดำเนินการจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 184 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงินรวม 24,150 ล้านบาท เพื่อนำมาทดแทนรถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศเดิมที่มีการจัดหาครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 อายุการใช้งานมากว่า 30 ปี ตลอดจนเป็นการรองรับการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1-2 รวมถึงโครงการทางรถไฟสายใหม่ในอนาคตอีกด้วย              

นายวีริศ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ 184 คันนั้น เคยผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด รฟท. ไปแล้วเมื่อปี 2563 โดยอนุมัติให้จัดหาเป็นรถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ แบบ Bi-Mode DEMU ซึ่งต้องใช้ระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือหัว (OCS) ด้วย และได้มีการเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า มีบางหน่วยงาน อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ไม่เห็นด้วยกับสร้างระบบไฟฟ้าเหนือหัว ซึ่งการสร้างระบบนี้ต้องวางระบบใหม่ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 40-80 ล้านบาทต่อกิโลเมตร (กม.) โดยทางคู่ระยะทางประมาณ 200 กม. ก็จะใช้เงินประมาณ 12,000 ล้านบาท และหากทำให้ครอบคลุมทางคู่ทั่วประเทศ ก็จะใช้เม็ดเงินลงทุนสูงหลายแสนล้านบาท จะคุ้มทุนหรือไม่              

นายวีริศ กล่าวอีกว่า รฟท. จึงเสนอขอยกเลิกมติเดิม และปรับรูปแบบใหม่รถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศจาก Bi-Mode DEMU เป็นแบบไฮบริด DEMU โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซล และแบตเตอรี่ ไม่ต้องมีระบบไฟฟ้าเหนือหัว ซึ่งการเปลี่ยนระบบรถทำให้วงเงินเพิ่มอีกกว่า 10,000 ล้านบาท จากเดิม 14,000 ล้านบาท (เป็นราคาเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว) เป็น 24,150 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลังจากนี้คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ในเดือน ก.พ. 68 จากนั้นจะสอบถามความคิดเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในช่วงเดือน เม.ย.-ส.ค. 68              

นายวีริศ กล่าวอีกว่า หาก ครม.เห็นชอบโครงการดังกล่าว เบื้องต้น รฟท. คาดว่าจะเริ่มเปิดประกวดราคาในช่วงเดือน ก.ย. 68 และได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือน ก.ค. 69 อย่างไรก็ตาม รฟท. จะทยอยรับมอบ และให้บริการรถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศใหม่ ชั้น 1 และชั้น 2 ตั้งแต่ปี 2570 ชุดแรก 60 คัน  และจะทยอยรับมอบจนครบ 184 คันภายในเดือน เม.ย. 73 ซึ่งสอดคล้องกับการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572 มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 3,154 กม.              

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า สำหรับรถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ แบ่งเป็น แบบมีห้องขับ 92 คัน วงเงิน 12,075 ล้านบาท และแบบไม่มีห้องขับ 92 คัน วงเงิน 12,075 ล้านบาท รวมวงเงินโครงการ 24,150 ล้านบาท เฉลี่ยคันละ 131.25 ล้านบาท ซึ่ง รฟท. เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย และกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ทั้งนี้ รฟท. จะนำมารถทั้ง 184 คัน มาจัดเป็นขบวน โดย 1 ขบวน มี 4 คัน (แบบมีห้องขับ 2 คัน (หัว-ท้าย) และไม่มีห้องขับ 2 คัน) รวม 46 ขบวน ขบวนละ 239 ที่นั่ง โดยจะนำมาใช้บริการเดินรถ 31 ขบวน หรือ 62 ขบวน (ไป-กลับ) ต่อวัน ส่วนที่เหลือ 15 ขบวน ใช้เป็นขบวนรถสำรอง อาทิ กรณีมีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือนำรถเข้าซ่อม              

สำหรับแผนนำรถดีเซลรางฯ 62 ขบวน (ไป-กลับ) มาให้บริการ มีดังนี้ 1.ทดแทนขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศที่จัดเดินในปัจจุบัน 10 ขบวน ในเส้นทางสวรรคโลก 2 ขบวน, เชียงใหม่ 2 ขบวน, อุบลราชธานี 2 ขบวน และสุราษฎร์ธานี 4 ขบวน 2. เปิดเดินขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อรองรับทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 เส้นทางระยะกลาง 9 เส้นทาง รวม 46 ขบวนต่อวัน ในเส้นทางพิษณุโลก 10 ขบวน, นครราชสีมา 10 ขบวน, ขอนแก่น 6 ขบวน, ชุมพร 8 ขบวน, สุราษฎร์ธานี 2 ขบวน, นครราชสีมา–จุกเสม็ด  4 ขบวน, ชุมพร–กันตัง 2 ขบวน, ชุมพร–นครศรีธรรมราช 2 ขบวน และชุมพร–ยะลา 2 ขบวน และ 3. เปิดเดินขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อรองรับทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 เส้นทางระยะไกล 3 เส้นทาง รวม 6 ขบวนต่อวัน ในเส้นทางเชียงใหม่ 2 ขบวน, อุบลราชธานี  2 ขบวน และหนองคาย 2 ขบวน

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า การเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้จะต้องเตรียมข้อมูลให้ดี และชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ มีข้อสงสัย และข้อกังวลคือเรื่องที่ รฟท. มีภาระหนี้สูง รวมถึงแผนการจัดหารายได้ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จะต้องกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำรายละเอียดให้ชัดเจน เคลียร์ในประเด็นเหล่านี้ให้ได้ ว่าการจัดหารถไฟดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ และปลดหนี้ให้กับ รฟท. ได้อย่างไร รวมทั้งแผนการเดินรถจะเป็นอย่างไร เพื่อแสดงให้เห็นว่าการจัดหารถดังกล่าวมีความเหมาะสม และคุ้มค่าจริงๆ