เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 68 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับปลาชนิดแรกในไทย ที่ปัจจุบันมีการจัดแสดงที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ปลาโบราณภูน้ำจั้น จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยระบุว่า “จะพาไปรู้จักปลาตัวแรกของไทย ไม่รู้ตัวแรกหรือเปล่า แต่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง เพราะปลาที่เห็นในภาพอายุ 150 ล้านปี”

“ย้อนไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน ชาวบ้านแถวภูน้ำจั้น กาฬสินธุ์ พบแผ่นหินประหลาดเป็นเกล็ดมันวาวสีนิลหิน พวกนี้แตกต่างจากหินทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความสงสัย ชาวบ้านจึงลองค้นดูแถวนั้นจนพบมากขึ้นหลายแผ่น เกล็ดพญานาค บางคนตะโกนลั่น ของศักดิ์สิทธิ์แบบนี้เก็บไว้ในบ้านไม่ได้ พวกเราเอาไปถวายวัดกันดีกว่า”

“ไม่ไกลจากภูน้ำจั้นคือวัดพุทธบุตร ชาวบ้านจึงนำหินเกล็ดมาถวายหลวงพ่อ ผู้รวบรวมเก็บไว้เวลาผ่านไป เสียงลือเสียงเล่าอ้างกระจายไป จนนักบรรพชีวินวิทยาได้ข่าว คาดว่าเป็นฟอสซิลจึงลองมาดู ใช่ หินเกล็ดพวกนั้นคือฟอสซิลของปลากระดูกแข็งน้ำจืดกลุ่มจิงกลีโมเดียน ปลามีเกล็ดสี่เหลี่ยมตัวอย่างที่สะสมไว้ในวัดหลายชิ้นสมบูรณ์ จนท้ายที่สุดสามารถจำแนกได้และกลายเป็นปลาชนิดใหม่ของโลก ไทยอิกธิส พุทธบุตรเอนซิส เพื่อเป็นเกียรติกับวัดพุทธบุตรอิกธิส (ichthys) แปลว่าปลากระดูกแข็ง หมายถึงปลาทั่วไปที่ไม่ใช่ปลาฉลาม/กระเบน (ปลากระดูกอ่อน) Thaiichthys จึงแปลได้ว่า “ปลากระดูกแข็งแห่งประเทศไทย” เป็นชื่อที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรเหนือกว่าปลาตัวใด ๆ”

“ในประเทศนี้ ปลาเหล่านี้อยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์ อาศัยอยู่ในหนองน้ำโบราณที่ต่อมากลายเป็นภูน้ำจั้น นอกจากนี้ยังพบปลาโบราณอีกชนิด อิสานอิกธิส พาลัสทริส กลายเป็น 2 ทวดปลาของไทยในบริเวณที่ขุดพบจึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ปลาโบราณภูน้ำจั้น มีนิทรรศการและหลุมขุดเห็นฟอสซิลปลาจำนวนมาก”

“หากใครไปดูไดโนเสาร์ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร (กาฬสินธุ์) ขับรถต่ออีก 1 ชั่วโมง ก็ถึงภูน้ำจั้น เรายังพบปลาโบราณอีก 2 ชนิด อิสานอิกธิส เลิศบุศย์ศรี พบในแหล่งภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ อีกชนิดคือ โคราชอิกธิส จิบบัส ตัวนี้แยกออกมาห่างไกล เพราะชาวบ้านเจอที่วังน้ำเขียว โคราช”

“ตัวอย่างฟอสซิลยังนำไปจัดแสดงในที่อื่น ๆ เช่น ภูเวียง ขอนแก่น หากเพื่อนธรณ์ไปเจอ โปรดร้องว้าว นี่แหละคือปลาตัวแรก ๆ ของไทย อยู่มาก่อนพวกเรานานแสนนาน ร้อยห้าสิบล้านปี นอกจากปลาตัวแรกยังมีหอยตัวแรก เดี๋ยวจะค่อย ๆ พาเพื่อนธรณ์ไปดู แต่บอกไว้เลยว่า การมาอีสานเพื่อตามหาร่องรอยดึกดำบรรพ์หนนี้ ผมฟินมาก ความรู้หาอ่านได้ แต่แรงบันดาลใจจะเกิดเมื่อเราเห็น เมื่อเราเกิดแรงบันดาลใจ การถ่ายทอดจะงดงาม ไม่ว่าจะเขียนเรื่องให้เพื่อนธรณ์อ่าน นำไปสอนให้นิสิต หรือเขียนตำราสักเล่มอีสานคือแหล่งดึกดำบรรพ์ของไทย มีเรื่องราวมากมายให้ตามหาครับ”

อย่างไรก็ตาม ด้านศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม PRC MSU เคยเขียนให้ความเกี่ยวกับสาเหตุที่ปลาถูกฝังในดินไว้ว่า “เกิดเหตุการณ์ที่น้ำแห้งลงอย่างกะทันหัน ปลาเหล่านี้พยายามเอาชีวิตรอดโดยมุดลงฝังตัวอยู่ใต้โคลนเพื่อรักษาความชื้นของร่างกาย อย่างไรก็ตามน้ำได้แห้งเหือดไปจนหมดสิ้นทำให้พวกมันตายลง ในสภาวะไร้อากาศที่ก้นบึง จึงไม่เกิดการเน่า ต่อมากระบวนการเกิดฟอสซิล ทำให้แร่ธาตุต่างๆ เข้าไปแทนที่ในส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อกระดูก และถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหินกลายเป็นฟอสซิลเหลือมาจนถึงปัจจุบัน”

“โดยปลาชนิดที่พบมากที่สุดคือปลากินพืช ไทยอิกธิส พุทธบุตรเอนซิส พบซากสมบูรณ์กว่า 250 ซาก นอกจากนี้ยังพบปลากินเนื้อ อิสานอิกธิส พาลัสทริส 1 ตัว และปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตคัส มาร์ตินี 1 ตัว”

ขณะที่ทางด้านกรมทรัพยากรธรณี ก็เคยออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของปลา
ชิ้นส่วนที่พบ กระดูกกะโหลก ฟัน และเกล็ดค่อนข้างสมบูรณ์จากหัวถึงหาง
อายุ ยุคจูแรสซิกตอนปลาย-ยุคครีเทเซียสตอนต้น ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช
ลักษณะทั่วไปของ “ไทยอิกธิส พุทธบุตรเอนซิส” เป็นปลากระดูกแข็งที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด มีเกล็ดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แข็ง หยาบ และมันวาว ความยาวลำตัวประมาณ 40-50 ซม.

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Thon Thamrongnawasawat, @กรมทรัพยากรธรณี