เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 ชาซาลี สุไลมาน วัย 28 ปี มาจากเมืองอิโปห์ของมาเลเซีย ใช้โซเชียลมีเดียโปรโมตธุกิจให้บริการของเขา โดยอ้างว่า เขาสามารถช่วยให้ลูกค้าแสดง “ความเป็นชาย” และสร้างความประทับใจให้กับคู่รักของตนได้
สุไลมานเขียนว่า “คุณเบื่อไหมที่แฟนคิดว่าคุณเป็นคนอ่อนแอ ผมช่วยคุณพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นได้ว่าคิดผิด ด้วยค่าบริการที่ไม่แพง”
เขาเสริมว่าลูกค้าเพียงแค่บอกเวลาและสถานที่มา แล้วเขาจะไป “คุกคาม” คู่รักของลูกค้า จากนั้นก็ปล่อยให้ลูกค้าแสดงว่าเอาชนะเขาได้และจัดการไล่เขาไป
สุไลมานยังโพสต์รูปถ่ายของตัวเองที่ไว้ผมยาวรุงรัง บางรูปก็คาบบุหรี่ไว้ที่ปาก เพื่อเพิ่มภาพลักษณ์แบบ “ขาโหด” เขาเล่าว่า คนมักพูดว่าเขาดูเหมือนพวกแก๊งโจร ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เขาคิดธุรกิจให้บริการนี้ขึ้นมา เพื่อหารายได้พิเศษ

รายงานข่าวระบุว่า บริการ “รับจ้างเป็นผู้ร้าย” ของเขา มีอัตราค่าบริการ 100 ริงกิต (ราว 767 บาท) ในวันธรรมดา และ 150 ริงกิต (1,150 บาท) ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ถ้าลูกค้าอยู่ต่างเมือง จะต้องบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามระยะทาง
สำนักข่าวมาเลเซีย SAYS รายงานว่า สุไลมานให้บริการทั้งผู้ชายและผู้หญิง และช่วยเหลือเพื่อนและครอบครัวบางคนได้มาก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขรายได้ของเขา
สุไลมานเล่าถึงกรณีล่าสุดที่ชายคนหนึ่งจ้างเขาที่ศูนย์การค้า ว่า “เมื่อแฟนหนุ่มไปเข้าห้องน้ำ ผมก็แกล้งทำเป็น ‘คุกคาม’ แฟนสาวของเขา เมื่อเขากลับมา เขาก็เผชิญหน้ากับผมแบบพระเอกเลย” เขากล่าว
แต่ก็มีชาวเน็ตบางคนแสดงความกังวลว่า บริการของเขาอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อาจถูกมองว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในประเทศมาเลเซียนั้น คนร้ายคดีล่วงละเมิดทางเพศ อาจต้องจ่ายเงินค่าชดเชยหรือเงินค่าทำขวัญให้ผู้เสียหาย
นอกจากนี้ การแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้อื่นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และอาจส่งผลให้ต้องรับโทษจำคุกสูงสุดสามเดือน หรือปรับเงินหรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่สุไลมานยืนกรานว่า ไม่มีใครได้รับอันตรายตลอดการให้บริการของเขา “มันเป็นเพียงการแสดงเหมือนรายการโชว์มวยปล้ำ WWE ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ มีผมคนเดียวที่เป็นผู้แพ้”
ลูกค้าสาวบางคนของสุไลมานขอให้เขาทำท่าจีบเธอ เพื่อยั่วให้สามีรู้สึกหึงหวง เขาบอกว่าเขาหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพตัวเองระหว่างทำงาน เพื่อรักษาสถานการณ์ของลูกค้าให้ดูสมจริง
บริการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักของสุไลมาน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในแวดวงโซเชียลมีเดีย ซึ่งแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย โดยมีทั้งฝ่ายที่ชื่นชมและอยากทดลองใช้บริการ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นบริการที่ “ไร้สาระ”
ชาวเน็ตรายหนึ่งวิจารณ์ว่า “เป็นไปได้ว่า คนที่จ่ายเงินเพื่อให้ได้แสดงตัวเป็นฮีโร่ จะเป็นคนแรกที่วิ่งหนีเวลาเกิดเรื่องร้าย ฮีโร่ปลอม ๆ ยังไงก็ปลอมอยู่วันยังค่ำ”
ที่มา : scmp.com
เครดิตภาพ : Артём Лякушин from Pixabay, Facebook/Pesakit Sifar Cacar Monyek