เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่อาคารประชาอารักษ์ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รรท.ผบก.ปคบ.(กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค) และพ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงจับกุมกวาดล้างโรงงานผู้ผลิตยาสเตียรอยด์รายใหญ่ ตรวจยึดยา Dexamethasone กว่า 1,930,000 เม็ด

สืบเนื่องจาก ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันเฝ้าระวังการลักลอบนำยาสเตียรอยด์ซึ่งเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” ที่ร้านยาขายให้ได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น โดยมีการลักลอบนำไปใช้ผิดกฎหมาย ทั้งในการจำหน่ายในรูปแบบยาชุด และลักลอบผสมในผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง เพื่อหวังผลในการรักษาอาการต่างๆ ให้เห็นผลอย่างรวดเร็วและชัดเจน
โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่พบลักลอบนำยาสเตียรอยด์ไปผสมแล้วกล่าวอ้างสรรพคุณ รักษาโรคปวดเมื่อย หอบหืด ลดอาการอักเสบ รักษาโรคมะเร็ง ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่ เมื่อใช้ครั้งแรกเห็นผลจะนิยมรับประทานอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เกิดหนอกบริเวณหลังคอ กระดูกพรุน ติดเชื้อง่าย ภาวะไตวาย และหากลักลอบนำไปผสมในเครื่องสำอางหากใช้แล้วอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ผิวบางลง เกิดเป็นฝ้าถาวร รอยแตกลายงาตามบริเวณที่ใช้
ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2568 กก.4 บก.ปคบ. ได้รับการประสานจาก อย. ว่ามีการลักลอบผลิตยาสเตียรอยด์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาอยู่ภายในซอยแจ้งวัฒนะ 6 พื้นที่ตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ จึงได้ร่วมกันนำกำลังเข้าตรวจสอบ ผลการตรวจค้นพบ น.ส.ปณิธี (สงวนนามสกุล) ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยสถานที่ดังกล่าว ได้รับอนุญาตให้เป็นสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน และขายส่งยาแผนปัจจุบันที่ตนเองผลิต โดยขณะตรวจพบการผลิตยาสเตียรอยด์ ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จึงตรวจยึดของกลางเป็นยาสเตียรอยด์ DEXAMETHASONE Tablets 0.5 mg 1,930,000 เม็ด ดังกล่าว

พ.ต.อ.วีระพงษ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าโรงงานดังกล่าวจะใช้กล่องลังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใช้แล้ว บรรจุยาสเตียรอยด์ของกลางในการจัดเก็บ และขนส่ง เพื่อตบตายากแก่การตรวจสอบของตำรวจ ซึ่งยาดังกล่าวหากพบมีการกระจายออกสู่ท้องตลาด แล้วประชาชนนำไปบริโภคจนเกิดอาการเจ็บป่วย จะมีมูลค่าความเสียหายในระบบสาธารณสุขไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน ผลิตยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.วิทิต กล่าวว่า การสืบสวนทาง อย.ร่วมกันกับทางตำรวจใช้เวลา 2 ปี ในการขยายผลจับกุมโรงงานที่มีการผลิตยาดังกล่าวออกมา โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลมาจากประชาชนที่ร้องเรียนเข้ามาว่าได้กินยาสมุนไพรชนิดหนึ่งแล้วเกิดผลข้างเคียง เมื่อไปตรวจสอบแหล่งจำหน่ายยาสมุนไพรดังกล่าวพบว่ามีการผสมยาสเตียรอยด์เข้าไป จึงได้ทำการสืบสวนหาต้นตอในการผลิตยาสเตียรอยด์ว่าอยู่ที่ไหน ก่อนจะพบกับโรงงานผลิตยาสเตียรอยด์ดังกล่าว.