เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เรื่อง ติดตามปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมและยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อติดตามสถานการณ์หมอกควันฝุ่นละออง PM 2.5 และผลการดำเนินงานของหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเพื่อลดมลพิษ

ก่อนเริ่มการประชุม นายอนุทินได้อวยพรเนื่องในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซินเจียยู่อี่ซินนี้ฮวดใช้ ขอให้ท่านประสบความสำเร็จ มีแต่ความเจริญก้าวหน้า สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง
นายอนุทิน กล่าวระหว่างการประชุมว่า นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงต่อสถานการณ์นี้เป็นอย่างมาก ได้ติดต่อ ติดตาม ประสานงาน เรียกประชุมหารือกับตนตลอดเวลา ในช่วงที่เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งได้ยืนยันไปว่า ทุกคนมีความพร้อมรับมือป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีขอให้เชิญและแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของกองบัญชาการอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยให้นายจิรายุ ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนตระหนักรู้ จะได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์ ซึ่งพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นพื้นที่ Hotspot มากที่สุด มีการเผาในที่โล่งแจ้ง เผาวัชพืช ผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศพื้นที่ห้ามเผาเป็นที่เรียบร้อย และได้มีการสั่งการยกระดับดำเนินการทุกมาตรการอย่างเข้มข้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ระบบบริหารจัดการแบบ Single Command ในการบรรเทาสาธารณภัยแก้ปัญหา โดยนอกจากอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ยังใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภัยแห่งชาติ เพื่อการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานเป็นตัวแทนรัฐบาล ทำงานร่วมกัน ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยสั่งการ จึงขอให้ร่วมมือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเสียหายน้อยที่สุด
นายอนุทิน กล่าวว่า มูลเหตุมาจากการเผา หากทำให้ประชาชนไม่เผาได้ มลพิษก็จะเกิดขึ้นน้อยมาก จึงไม่ต้องกังวลว่าเพื่อนบ้านจะทำอย่างไร เราต้องจัดการในบ้านของเราให้เรียบร้อยก่อน ถ้าในบ้านเราเรียบร้อยแล้ว แล้วยังมีเหตุมาจากเพื่อนบ้าน ก็จะมีความกดดันมายังรัฐบาล รัฐบาลก็จะต้องเร่งไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในการแซงชั่น ไม่อุดหนุนสินค้าทางการเกษตร หากมาจากการเผาวัชพืชเหล่านี้ และก่อให้เกิดมลพิษข้ามมายังประเทศเรา สิ่งสำคัญคือเราต้องดำเนินการแก้ไขในบ้านของเราให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะวันนี้โอกาสสร้างเศรษฐกิจตอนนี้เปลี่ยนไป ชาวบ้านเปลี่ยนจากการผลิตพืชผลทางการเกษตรระยะยาว มาเป็นพืชระยะสั้น ปลูกมะม่วง มังคุดทุเรียน ปลูกส้ม ช้า 3 ปีไม่ได้อะไรเลย ตลาดโลกใหญ่ขึ้น มีผลิตภัณฑ์แปรรูป จะขึ้นหมุนเวียนมากมายมันสำปะหลังอ้อยข้าวโพด ของพวกนี้ปลูกได้ทั้งปี หมุนแล้วหมุนอีก ถึงทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เขาคิดว่าสามารถปลูกพืชหมุนเวียนเหล่านี้ได้หลายรอบมากที่สุด และต้องเร่งก่อให้เกิดการปลูกครั้งใหม่ให้เร็วที่สุด จึงต้องเผา
นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกหลังคาเรือนปลูกพืชผลทางการเกษตรเช่นนี้ ซากที่เกิดขึ้น เช่น ซังข้าวโพด ในหนึ่งตำบล มีอยู่ประมาณ 100 กอง กองละ 700,000 กิโลกรัม ถ้าไม่ได้ไปเห็นด้วยตาตัวเอง คิดว่าคงอะลุ้มอล่วยได้ ที่อำเภอแม่แจ่ม อำเภอเดียวอาจทำให้หมอกควันปกคลุมทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เชียงใหม่อย่างเดียว ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล ซึ่งต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด หาทางเลือก เช่นที่เชียงใหม่ ที่ทำคือให้มีการฝังกลบ หรือแปรสภาพเศษซังข้าวโพด ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนเครื่องจักรเข้าไป หรือนำไปเป็นเชื้อเพลิงไบโอพาวเวอร์ เอาไปเป็นไอน้ำความร้อนฝ่ายผลิตไฟฟ้า เอาไปแปรสภาพเป็นอาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยชีวภาพ แต่ภาครัฐต้องช่วย
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เราเจอภัยพิบัติมาโดยตลอด ต้นปีภาคเหนือ ไตรมาส 3 ภาคกลาง ไตรมาส 4 ภาคใต้ เราใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยทดแทนความเดือดร้อน หลังคาเรือนละ 9,000 บาท เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็ใกล้เคียงกัน น้ำลดหรือเพิ่มเกิน 3 วัน ชาวบ้านได้เงิน แต่กรณีหมอกควันยังไม่เกิด เราจะเอาเงินไปให้ชาวบ้านก่อนไม่ได้ มันต้องเกิดการเผาเกิดมลพิษควันดำก่อน กว่าจะเอาเงินออกมาได้ ความเสียหายค่ามลพิษต้องเกิน 150 ไมโครกรัม หากไปถึงจุดนั้น ประเทศไทยมืดมิดไปทั้งประเทศ ถึงจะนำเงินไปใช้ได้ ดังนั้นธรรมชาติไม่เหมือนกัน มีเงินแต่การใช้ไม่เหมือนกัน จึงขอข้อแนะนำช่วยกันคิดการสนับสนุนของแต่ละจังหวัด ในการผลักดันให้มีงบช่วยเหลือชาวบ้านก่อน เพื่อที่จะให้หยุดเผา เป็นจุดที่ต้องวางมาตรการ มันดูเหมือนภัยพิบัติ แต่การช่วยเหลือแตกต่างกัน ในส่วนนี้ขอความร่วมมือทุกฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ภาครัฐ เกษตร ทรัพยากร และหน่วยงานเทคโนโลยีให้ช่วยกัน ส่วนที่บังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ไม่ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเดือดร้อน