การประชุม ครม.วันที่ 28 ม.ค. มีวาระแห่งชาติที่สำคัญ และเข้าใจว่า คนไทยหลายคนรอคอยจะให้มีความเด็ดขาดในการจัดการมิจฉาชีพออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์เสียที นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แล้ว ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตรวจถ้อยคำอีกเล็กน้อย คาดว่าบังคับใช้ได้เดือน ก.พ.

“สาระสำคัญ 5 ประเด็น คือ 1.กำหนดความรับผิดชอบร่วมของสถาบันการเงิน เครือข่ายมือถือ และสื่อสังคมออนไลน์ กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น 2.กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ต้องมีหน้าที่ระงับการใช้งานซิมการ์ดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทันที 3.การเร่งรัดกระบวนการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการเพิ่มหน้าที่ให้ธนาคารต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี ที่มีความเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้สามารถตรวจสอบ และคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้โดยเร็ว

4.เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์มโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มต้องร่วมรับผิดชอบในการป้องกัน และตรวจสอบการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระบบของตัวเอง 5.เพิ่มบทลงโทษสำหรับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลจะต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสม ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดโทษเพิ่มเติม 2 ลักษณะ คือ เปิดเผยแบบส่งต่อ และเปิดเผยแบบขายข้อมูล โทษจะหนักเบาต่างกัน โทษสูงสุดปรับ 5 ล้านบาทต่อหนึ่งกระทง โทษจำคุก 5 ปี”

รมว.ดีอีระบุว่า การดึงเงินคืนให้ผู้เสียหาย จากเดิมที่ใช้เวลาปีกว่าๆ จะเหลือ 6 เดือนหรือไม่เกิน 1 ปี หรืออาจจะคืนได้ทันทีในการดึงเงินคืนกลับมาให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะหากผู้เสียหายยืนยันข้อมูลได้ตรงกับบัญชีก็จะคืนได้ทันที จากเดิมที่ต้องผ่านกระบวนการศาล และมีการฟ้องร้องเสียก่อน  ถ้าธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการมือถือปฏิบัติตามข้อกำหนดครบถ้วนไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ แต่ถ้าไม่ทำ อย่างเช่น กรณี ธนาคารหากมีคำสั่งให้ปิดบัญชีต้องสงสัย และให้ส่งบัญชีเอชอาร์ 03 ให้กับ ปปง. แต่ไม่ส่งภายในกี่วันตามที่กฎหมายกำหนด และบัญชีดังกล่าวถูกนำไปก่ออาชญากรรม ธนาคารก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย ผู้ให้บริการมือถือหากยังส่งเอสเอ็มเอสแนบลิงก์ ไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ส่ง และเกิดมีการส่งลิงก์ดูดเงิน หรือหลอกลวงโดยไม่มีการคัดกรอง ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ

ในส่วนของแพลตฟอร์มต่าง ๆ หากมีข้อมูล หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ หรือโฆษณาที่ผิดกฎหมาย  ถ้าไม่ปิดกั้น หรือนำลงจากแพลตฟอร์มจนทำให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน ซึ่งประเด็นนี้เพิ่งเกิดเรื่องไป คือ ชยธร หรือออย แสงศิลป์ ศิลปินชื่อดัง ฉายา ราชารถแห่ โพสต์ลิงก์เว็บพนัน  เข้าความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 การแนบลิงก์ 1 ครั้ง จะผิดต่างกรรมต่างวาระ ผู้ต้องหายอมรับสารภาพว่าในห้วงที่ได้แนบลิงก์ไปไม่ค่อยมีเงินจึงมีการแนบลิงก์การพนัน  ศาลแขวงดอนเมืองพิพากษาสั่งจำคุก 1 ปี  ออย แสงศิลป์ รับสารภาพ ลดโทษเหลือ 6 เดือน  ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำผิดโดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ให้แพร่หลาย ถือเป็นเหตุร้ายแรง จึงไม่รอลงอาญา

โอเปอเรเตอร์สองค่ายใหญ่ขานรับนโยบายทันที  นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูพัฒนาระบบ “ทรู ไซเบอร์เซฟ” ระบบป้องกันภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพ ทั้งจากลิงก์แปลกปลอม เอสเอ็มเอสหลอกลวง การกรองสายเรียกเข้า โดยนำร่องให้บริการระบบปิดกั้นและแจ้งเตือนการเข้าถึงลิงก์แปลกปลอม (เว็บ/ ยูอาร์แอล โพเทคชั่น) ทั้งที่เป็นแบล็กลิสต์ จากภาครัฐ และลิงก์ที่มีความเสี่ยง รวมเบื้องต้นกว่า 100,000 ลิงก์ และแจ้งเตือนสายเรียกเข้าที่มีความสุ่มเสี่ยงมากกว่า 7 ล้านสาย

“จากสถิติมากกว่า 98% ที่มีการแจ้งเวลามีสายเรียกเข้าแล้วลูกค้าเรากดปฏิเสธ แต่ก็ยังเหลืออีก 2% ที่ลูกค้าก็กดรับ แต่หากให้ค่ายมือถือมีการรับผิดด้วยนั้น ก็คงต้องพิสูจน์ในหลักฐานไปว่าเป็นที่ระบบเรามีการรั่วไหลหรือไม่ ในเดือน มี.ค. จะดำเนินการอย่างเต็มระบบทุกรูปแบบในเฟส 2 โดยจะบล็อกเลขหมายจากต้นทางทันที หากเบอร์นั้นถูกระบุว่าเบอร์จากมิจฉาชีพ จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเบอร์มิจฉาชีพในถังข้อมูลเดียวกับทางหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 5454878.jpg

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านการกดลิงก์ แอดไลน์ หรือตอบกลับเอสเอ็มเอส รวมถึงงดให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับแหล่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ หากลูกค้ารับสายที่เข้าข่ายมิจฉาชีพ เมื่อวางสาย สามารถกด *1185# โทรออก ภายใน 5 นาที ระบบจะส่งเบอร์ล่าสุดที่รับสายไปเพื่อตรวจสอบและบล็อกทันที หรือหากได้รับเอสเอ็มเอสผิดปกติ ก็สามารถโทรฯแจ้งผ่านสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบทันที

ส่วน “นายกฯ อิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  ให้สัมภาษณ์ว่า การเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 5-8 ก.พ.นี้ จะได้พูดคุยกับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย และจีนเองก็คงอยากได้ความร่วมมือจากเราเช่นกัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะต้องหมดไปให้ได้  

ระหว่างการสัมภาษณ์ มีสีสันหนึ่งคือ มีผู้สื่อข่าวบางคนพยายามสอบถามเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายกฯ น.ส.แพทองธารหัวเราะ และกล่าวแซวว่า “ท่านนี้มาทีไร ถามเรื่องทรัพย์สินทุกที  เดี๋ยวเอาคอนแทคทนายให้เลยดีกว่า เพราะเดี๋ยวดิฉันตอบผิด ฝากเลขาฯ เอาเบอร์ให้หลังไมค์ให้โทรฯ เลย ไม่เช่นนั้นจะตอบผิด  เพราะดิฉันเสี่ยงเยอะอยู่ คุยกับทนายดีกว่า เซฟดิฉันด้วยนะคะ”

ต่อจากเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ก็มาเรื่องยาเสพติด ในการประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณารายงานผลปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี นายศิริสุข ยืนหาญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นตัวแทนหน่วยงานชี้แจงต่อวุฒิสภา นางประทุม วงศ์สวัสดิ์ สว. อภิปรายว่า จากประสบการณ์ของตน พบว่าตำรวจเป็นคนจัดหา คนขายคือ ตำรวจ มีแชร์ลูกโซ่ตำรวจ จะจับยัดยา ถ้าไม่อยากให้จับ ไปหาบัญชีม้า 5-10 คน ไม่เช่นนั้นไม่ปล่อย หาบัญชีม้าต้องต่อยอดต่อไป เป็นดาวไลน์ และลูกโซ่ ลูกน้องของตนโดนกระทำ

“การจับยา 10 ล้านเม็ด จับแล้วไปไหน ไปอยู่หน่วยงานใด แล้วทำไมต้องเวียนให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือคนที่เกี่ยวข้องจำหน่ายจ่ายแจกอีก ขอเสนอแนะให้ต้องกำจัดพวกเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้ใช้กฎหมายที่ทำผิดเอง ที่มีพฤติกรรมเป็นพวกนาโต คือ โนแอ๊คชั่น ทอล์กโอลี่ จับ ถ่ายรูป แล้วจบ  ทำหูหนวก ตาบอด จับไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทำอยู่ข้างบ้าน”

ทำให้นายศิริสุข ชี้แจงว่า หากมีข้อมูลและพยานหลักฐานให้แจ้งมาที่ตนหรือแจ้งต่อ ผบ.ตร. ได้ ทั้งนี้ในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พบการทำผิดต้องโดนลงโทษถึง 3 เท่า สำหรับการจับยาหากตรวจจากนักวิทยาศาสตร์แล้ว จะไม่มีเวียน และต้องนำไปทำลายเมื่อมีปริมาณถึง 30 ตัน ยืนยันว่าไม่เวียน ตั้งแต่วันที่  26 ธ.ค. 66 ต้องเผา และเร่งเผาทุกๆ 2-3 เดือน

ที่อภิปรายกันแรง คือ นายอะมัด อายุเคน  สว. กล่าวว่า ในเรือนจำทั่วประเทศมีนักโทษประมาณ 300,000 ราย เป็นนักโทษในคดียาเสพติดถึง 280,000 คน มันน่าตกใจมาก คนต่างชาติที่ทำความผิดยังบอกว่าไม่กลัวที่จะติดคุกไทย เพราะคุกไทยมีอาหารครบ 3 มื้อ สารอาหารครบ 5 หมู่ เช้าๆ มีออกกำลังกาย มีสถานพยาบาลภายในให้ดูแล  กฎหมายเรื่องยาเสพติดของเรามันอ่อนมาก ถ้าให้ตนมีอำนาจแล้วเสนอได้ ภายใน 6 เดือนจะไม่ให้มียาเสพติดเลยสักเม็ดเดียว

“ผมจะเสนอให้ประหารชีวิตนักโทษยาเสพติด ไม่ต้องไปวิสามัญแบบใต้ดิน ประหารชีวิตเลยภายใน 3 เดือน โดยใช้ศาลพิเศษตัดสิน แล้วถ่ายทอดออกโทรทัศน์ด้วยให้คนในประเทศได้รับรู้ ผมรับประกันได้ว่าจะไม่มีใครกล้าทำอีก อยากให้ทำแบบสิงคโปร์ ที่ตัดสินประหารชีวิตในคดียาเสพติดแบบแขวนคอ” ระหว่างนายอะมัดอภิปราย เพื่อน สว.หลายคนแสดงความชอบใจ ถึงขนาดมายืนอยู่ข้างหลังนายอะมัด พร้อมส่งเสียงเชียร์สนับสนุนแนวทางที่นายอะมัดเสนออีกด้วย

ปิดท้ายด้วยเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ “เอิร์ธ” ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.)  ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่าการอภิปรายจะอยู่ครึ่งแรกของเดือน มี.ค. ส่วนที่มีข่าวรัฐบาลมีหนอนบ่อนไส้ส่งข้อมูลให้ฝ่ายค้านนั้น  ตั้งแต่ตนเองเป็น สส.สมัยที่แล้วก็เคยมี สส.ฝั่งรัฐบาลนำข้อมูลบางอย่างมาให้ อาจจะไม่ถึงกับใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจเป็นความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ในหลายๆ เรื่องในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นสิ่งที่ควรจะถูกแก้ไข แต่เขาไม่สามารถพูดเองได้ด้วยความที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะยื่นมาให้เราลองนำไปขับเคลื่อนต่อ

ตอนนี้เรื่องจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์กำลังแรง เรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจจะชูประเด็นอะไรให้คนสนใจ ?