เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 28 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เนื่องจากตอนนี้มีปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเยอะ ครม.จึงอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่เป็นการเพิ่มเติมมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ
จากนั้นเวลา 12.35 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบการแก้ไขพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็น คือ 1.กำหนดความรับผิดชอบร่วมของสถาบันการเงิน เครือข่ายมือถือ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น 2.กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ต้องมีหน้าที่ระงับการใช้งานซิมการ์ดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทันที 3.การเร่งรัดกระบวนการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการเพิ่มหน้าที่ให้ธนาคารต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี ที่มีความเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้สามารถตรวจสอบ และคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้โดยเร็ว
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า 4.เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์มโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มต้องร่วมรับผิดชอบในการป้องกัน และตรวจสอบการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระบบของตน และ 5.เพิ่มบทลงโทษสำหรับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลจะต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสม ซึ่งในกฎหมาบฉบับนี้มีการกำหนดโทษเพิ่มเติม 2 ลักษณะ คือ เปิดเผยแบบส่งต่อ และเปิดเผยแบบขายข้อมูล ซึ่งโทษจะหนักเบาต่างกัน โทษสูงสุดปรับ 5 ล้านบาทต่อหนึ่งกระทง ส่วนโทษจำคุก 5 ปี วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ลดความเสียหายให้พี่น้องประชาชน
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า การดึงเงินคืนให้ผู้เสียหายจากเดิมที่ใช้เวลาปีกว่าๆ จะเหลือ 6 เดือนหรือไม่เกิน 1 ปี หรืออาจจะคืนได้ทันทีในการดึงเงินคืนกลับมาให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะหากผู้เสียหายยืนยันข้อมูลได้ตรงกับบัญชีก็จะคืนได้ทันที จากเดิมที่ต้องผ่านกระบวนการศาล และมีการฟ้องร้องเสียก่อน
เมื่อถามว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ นายประเสริฐ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาขอดูรายละเอียดอีกเล็กน้อย โดยในวันเดียวกันนี้ ครม.ผ่านความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน.