การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลและความต้องการพลังงานสะอาดได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ ‘การก่อสร้างสีเขียว’ (Green Construction)

ดังที่ บริษัท ซีแพค ผู้นำด้านวัสดุก่อสร้าง เดินหน้าขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนด้วยการเปิดตัว ‘รถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck’ คันแรกในภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด The 1st Mover Low Carbon Concrete Business

การเปิดตัวนวัตกรรมดังกล่าว นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยรถโม่พลังงานไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 212,736 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 22,400 ต้น ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และมลพิษทางอากาศ สอดคล้องกับนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

‘ถิรวัฒน์ พูนกาญจนะโรจน์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC บริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านผลิตภัณฑ์คอนกรีตของประเทศ ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการก่อสร้างที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ CPAC จึงได้นำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยได้เปิดตัว ‘รถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck’ ซึ่งเป็นรถโม่รุ่นแรกของประเทศไทยที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่งคอนกรีต

สำหรับการนำรถโม่พลังงานไฟฟ้ามาใช้งานในครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวคิดการเติบโตสีเขียวแบบครอบคลุม (Inclusive Green Growth) ที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยรถโม่รุ่นใหม่นี้มีข้อดีหลายประการ อาทิ ช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ลดเสียงรบกวน และประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับรถโม่ที่ใช้น้ำมันดีเซล คิดเป็นเงินประมาณ 237,600 บาทต่อคันต่อปี โดยคำนวณจากฐานค่าน้ำมัน 33 บาท/ลิตร นอกจากนี้ รถโม่พลังงานไฟฟ้ารุ่นนี้ยังได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่ที่มีเนินเขา ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถิรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ มีแผนขยายการใช้รถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck ไปยังหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงราย ชลบุรี และภูเก็ต ภายในปี 2568-2569 พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนรถโม่พลังงานไฟฟ้าทดแทนรถโม่สันดาปที่มีสภาพเครื่องยนต์เก่า และพัฒนารถโม่พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อรองรับการใช้งานในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะทางอากาศและเสียงได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่ความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นไปตามนโยบายการบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 ของประเทศไทย นอกจากนี้ การเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้รถขนส่งสีเขียวและผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่คู่ค้า ทั้งในแง่ของการได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อสีเขียว และการลดต้นทุนในการดำเนินงานในระยะยาว ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่อาจมีการบังคับใช้ภาษีคาร์บอนในอนาคตอีกด้วย