ชายชาวฟลอริดาวัย 40 ปีเศษรายหนึ่งเลือกกินอาหารที่เน้นเนื้อสัตว์ ไขมัน และผลิตภัณฑ์นมเป็นหลัก หลังจากหลายเดือนผ่านไป เขาก็ต้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา เนื่องจากมีของเหลวไหลออกมาจากต่อมน้ำเหลืองที่ฝ่ามือ ข้อศอก และฝ่าเท้า
ผู้ป่วยชายคนดังกล่าวบอกกับแพทย์ว่า ก่อนหน้านั้น เขารับประทานอาหารตามแนวทาง “Carnivore diet” มาเป็นเวลานาน 8 เดือน โดยอธิบายว่าอาหารที่เขารับประทานในแต่ละวันคือเนยแท่ง ชีสราว 6-9 ปอนด์ (2.7 – 4 กก.) และเนื้อแฮมเบอร์เกอร์
การรักษาผู้ป่วยรายนี้กลายเป็นกรณีศึกษาซึ่งได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ JAMA Cardiology เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
Carnivore diet คือแนวทางการกินอาหารที่เน้นเนื้อสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่อยากลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพ โดยคนที่ยึดแนวทางการกินแบบนี้อ้างว่า การกินแต่โปรตีนจากเนื้อสัตว์ล้วนและไม่กินผักเลย ช่วยให้พวกเขาลดน้ำหนักได้ดีและสุขภาพโดยรวมดีขึ้น
ผู้ป่วยรายนี้ก็เช่นกัน แม้สภาพร่างกายของเขาฟ้องว่าเขายึดแนวทางการกินที่เน้นเนื้อสัตว์แบบสุดโต่ง แต่เขาก็ยืนยันว่าสุขภาพโดยรวมของเขาดีขึ้น
หลังจากที่กินทั้งเนื้อสัตว์และไขมันอย่างเต็มที่ ชายคนนี้ก็อ้างว่าเขาลดน้ำหนักลง สมองของเขาทำงานได้ดีขึ้นและรู้สึกว่าร่างกายมีพลังงานมากขึ้น
แต่ผิวหนังของเขาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผลจากการกินแบบสุดโต่งทำให้มีของเหลวไหลเยิ้มจากฝ่ามือและข้อนิ้ว แต่ไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานเกือบเดือน ก่อนที่เขาจะเข้ารับการรักษา

ทีมแพทย์พบว่าระดับโคเลสเตอรอลรวมของชายคนนี้สูงเกิน 1,000 มก. / ดล. โดยตัวเลขอ้างอิงของระดับโคเลสเตอรอลที่ดีต่อสุขภาพคือน้อยกว่า 200 มก. / ดล. และเมื่อตัวเลขมากกว่า 240 มก. / ดล. ขึ้นไปจะถือว่าเป็นผู้ป่วยที่มีระดับโคเลสเตอรอล “สูง” อันเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
ก่อนหน้าที่ผู้ป่วยชายคนนี้จะเริ่มกินตามแนวทาง Carnivore diet แบบสุดโต่ง ระดับโคเลสเตอรอลของเขาอยู่ระหว่าง 210 – 300 มก. / ดล.
แพทย์โรคหัวใจวินิจฉัยว่าชายคนนี้เป็นโรคแซนเทลาสมา (Xanthelasma) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากในเลือดมีระดับคอเลสเตอรอลหรือไขมันชนิดอื่น ๆ สูงมาก ในหลายกรณีของผู้ป่วยโรคนี้ ไขมันส่วนเกินจะไหลออกมาจากหลอดเลือดและก่อตัวเป็นตะกอนไขมันสะสมอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น รอบดวงตาหรือเปลือกตา เรียกว่าโรค Xanthelasma palpebrarum หรือโรคไขมันสะสมที่เปลือกตา ซึ่งมีสาเหตุจากระดับโคเลสเตอรอลสูง, โรคเบาหวานหรือต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
ทีมผู้เขียนกรณีศึกษานี้ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการรักษาของผู้ป่วยชายคนดังกล่าว แต่ระบุว่ากรณีนี้ “เน้นย้ำถึงผลกระทบของรูปแบบการกินอาหารต่อระดับไขมันและความสำคัญของการจัดการระดับโคเลสเตอรอลที่สูงเกินไป เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน”
ที่มา : nypost.com
เครดิตภาพ : JAMA Cardiologym 2024, Marmagkiolis et al