เมื่อวันที่ 27 ม.ค. รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่แพทย์แขวนป้ายหรือการที่แพทย์นำชื่อตนเองไปให้ใช้เปิดคลินิกโดยที่ตัวเองไม่ได้เข้าไปควบคุมตามกฎหมาย ว่า กรณีแพทย์แขวนป้ายมีคดีที่รู้และแจ้งมาที่แพทยสภาทุกเดือน โดยจะมีการประกาศรับแพทย์แขวนป้าย ลงอยู่ในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์กลุ่มเฉพาะ ซึ่งบางทีก็เหมือนเจตนาหลอกลวงแพทย์ที่ไม่รู้กฎหมาย เช่น รับให้แขวนป้ายจะได้เดือนละ 10,000 บาท, 30,000 บาท หรือ 50,000 บาท และจะเซ็นสัญญาว่า ถ้ามีเรื่องเข้ามาที่แพทยสภาจะไม่ต้องรับผิด เพราะทางผู้จัดดำเนินการจะจัดการปัญหาให้เอง หรือบอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวอีกว่า แพทยสภาชุดที่ผ่านมามีมติเป็นเอกฉันท์ในความผิดกรณีนี้ จะไม่มีการว่ากล่าวตักเตือน หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 1-2 เดือน แต่ความผิดเรื่องของการแขวนป้าย ตามประกาศแพทยสภาฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ก.พ. 68 จะเริ่มตั้งแต่พักใช้ใบอนุญาตฯ 1 ปีทันที หากทำผิดซ้ำครั้งที่ 2 หรือไปถึงครั้งที่ 3 แปลว่าไม่อยากเป็นแพทย์แล้ว โดยการนำชื่อตัวเองไปให้มีการเปิดคลินิกเถื่อน 3 ครั้งแล้ว ก็จะเพิกถอนใบอนุญาตฯ
“เตือนน้องๆ แพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์ที่มีปัญหานี้คือแพทย์ที่จบใหม่ ที่เขาจะบอกว่าไม่รู้กฎหมาย แต่นักกฎหมายบอกว่าจะอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นกฎหมายเฉพาะของแพทย์ที่ต้องรู้ และแพทยสภาไม่อยากให้มีแพทย์โดนลงโทษในความผิดเช่นนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าแพทยสภาได้ปรับกฎและความผิดใหม่แล้ว” ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าว
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวว่า เรื่องแพทย์แขวนป้ายเป็นความผิดที่ถือว่ารุนแรงกว่าการโฆษณาเกินจริงของแพทย์ เนื่องจากเป็นต้นทางของการให้หมอเถื่อน เป็นเหมือนการเปิดประตูบ้านให้ข้าศึกเข้ามาในเมือง โดยการรับเงินเดือนละ 20,000-30,000 บาท แล้วให้ใครก็ได้เข้ามาทำอะไรก็ได้เข้ามาดำเนินการในคลินิก ซึ่งเป็นต้นเหตุของความไม่ปลอดภัย ทำให้มีผู้ป่วยได้รับความเสียหาย โดยไม่รู้เลยว่าการรับบริการนั้นเป็นแพทย์จริงหรือปลอม ถ้ามีแพทย์จริงอยู่ตามกฎหมาย ก็จะคอยควบคุมไม่ให้คนอื่นเข้ามาประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยผิดกฎหมาย
“เชื่อว่าคดีเกี่ยวกับเรื่องแพทย์แขวนป้ายจะลดลง หลังจากประกาศนี้มีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 68 ซึ่งเป็นความผิด ถึงแม้แพทย์จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่เจตนา แต่กฎหมายไม่ฟังว่า ไม่รู้ เหมือนกับกรณีที่เภสัชกรแขวนป้าย ซึ่งสภาเภสัชกรรมได้มีประกาศพักใช้ใบอนุญาตกรณีเภสัชแขวนป้าย 2 ปี หลังมีผลบังคับใช้ เท่าที่ทราบ คดีกรณีแขวนป้ายลดลงทันทีเลย เพราะมีความเกรงกลัว นับเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน” ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าว