ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล  (ASEAN Digital Ministers Meeting ADGMIN) ครั้งที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16–17 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีจากทุกประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมทั้งหมด

 นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ยังได้หารือกับคู่เจรจา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยมุ่งส่งเสริมมาตรฐานดิจิทัลและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ 

 การประชุม ADGMIN  ครั้งนี้ มีวาระหลายเรื่องที่มีความสําคัญ และส่งผลให้ประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างสูงอย่างไรบ้าง   มาฟังจาก  “ประเสริฐ จันทรรวงทอง”  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง”  กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ทาง น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญ โดยได้เป็นประธานเปิดการประชุม และได้กล่าวใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การปราบปรามเรื่องอาชญากรรมทางด้านออนไลน์ 2.ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นโอกาสของไทย  และ 3.เรื่องข่าวปลอม ถือเป็นประเด็นปัญหาที่ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนทุกประเทศได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐมนตรีหลายประเทศในอาเซียนก็เห็นตรงกัน ถือว่าเป็นประเด็นสําคัญ

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

สำหรับในเรื่องการป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ ทุกประเทศให้ความสําคัญ เพราะเกิดขึ้นกับทุกประเทศ โดยประเทศไทย ได้ทํางานเวิร์คกิ้งกรุ๊ป กับหลายประเทศ ล่วงหน้ามาแล้ว ร่วม 1 ปี โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาเหล่านี้ก็ได้รับการสานต่อ โดยในการลงนามความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ด้านดิจิทัลระหว่างไทย-กัมพูชา ก็ได้ครอบคลุมถึงเรื่องนี้ด้วย

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” กล่าวต่อว่า ในเรื่อง   ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ ที่ประชุมได้รับทราบการจัดตั้งศูนย์ ASEAN CERT ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสิงคโปร์เป็นหลักเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งประเทศไทยได้ส่งพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้าร่วมประชุมต่อเนื่องทุกปี

นอกจากนี้ ทุกประเทศ เห็นพ้องกันว่า ควรจะจัดตั้งหน่วยประสานงานเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ด้านไซเบอร์แบบเร่งด่วน  โดยควรมีศูนย์กลางของประเทศในแถบอาเซียนที่จะเป็นเซ็นเตอร์ ในการที่จะบูรณาการเรื่องการจัดตั้งการประสานงานเวลามีเรื่องอะไรต่างๆ ประเทศในแถบอาเซียนจะได้รับรู้ทั่วถึง เท่าเทียม รวดเร็ว แต่ยังไม่ได้สรุปว่าควรอยู่ที่ประเทศใด ต้องปรึกษาเลขาธิการอาเซียนด้วย

  อีกประเด็นที่ทุกๆประเทศให้ความสนใจ และเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมา และทาง สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ก็พูดถึง คือ เรื่อง ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยทุกประเทศเห็นเหมือนกันว่า เอไอ เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะมีความสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ และเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและระบบสังคม   โดยได้หารือครอบคลุมทั้งหมด ทั้งไกด์ไลน์ ทั้งมาตรฐาน ทั้งจริยธรรม  ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้ให้ทางหน่วยงานในสังกัด ได้แก่  สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช. )  สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า)  บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) และ  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ( ดีป้า )  เข้าไปช่วยเรื่องนี้

  “การลงนามเอ็มโอยูกับกัมพูชา แล้วต้องเร่งหารือต่อ เพื่อยกระดับการทำงานร่วมกัน ต้องมีการทํางานอย่างเข้มข้น เราไม่อยากเอ็มโอยู เพื่อโชว์เฉยๆ แล้วไม่เกิดผลอะไร อยากให้เซ็นแล้วมีผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังได้มีการ ตกลงทวิภาคีกับหลายประเทศ อย่างเมียนมา เป็นประเทศแรกที่ไทยเราพูดคุย ในประเด็นการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ของเมียนมารับปากที่จะช่วยดําเนินการให้ เขาจะไปหารือกับรัฐบาล จากนั้น จะส่งข่าวออกมาเพื่อบอกถึงแนวทางการดําเนินการของเขา  เราจะติดตามประเด็นนี้กับเมียนมาต่อไป ถ้าเขาไม่แจ้งความคืบหน้ามา ผมก็ต้องตามต่อ เพราะเกิดความเสียหาย” “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังมีการรับทราบความก้าวหน้า การใช้งาน 5G และเรื่องของแนวทางการลดค่าบริการข้ามแดน ซึ่งเป็นความสําคัญที่ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ โดยเฉพาะการใช้ซิมการ์ด ที่ไม่ได้ลงทะเบียนในประเทศแนวเขตชายแดน ที่อาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์กับประเทศต่างๆได้

 “ประเสริฐ จันทรรวงทอง”  กล่าวว่า สุดท้ายก่อนปิดการประชุม  มีวาระที่สําคัญก็คือเรื่องปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ เป็นการรับรองปฏิญญาฉบับนี้ เพื่อกําหนดทิศทางอนาคตอาเซียน ที่มีความมั่นคงปลอดภัยไร้รอยต่อครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเน้นให้ประชาคมในเขตอาเซียน เข้าถึงเทคโนโลยีทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือพื้นที่ห่างไกล เพื่อประชาชนสามารถเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

สำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปี 69 ซึ่งประเทศสมาชิกมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือเพื่อสร้างภูมิภาคดิจิทัลที่เข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไปในอนาคตข้างหน้า.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์