มะละกอเป็นผลไม้นอกจากจะอร่อยแล้ว ยังเป็นผลไม้สมุนไพรกินแล้วดีมาก เพราะมะละกอมีไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล และเกลือโซเดียมต่ำ เป็นแหล่งที่ดีของเส้นใยอาหาร ธาตุโพแทสเซียม วิตามินเอ ซี และโฟเลต แต่ร้อยละ 92 ของพลังงานจากมะละกอสุกมาจากคาร์โบไฮเดรต ผู้ที่ควบคุมอาหารแป้งและน้ำตาลจึงไม่ควรกินมะละกอมากเกินไป
สีแดงอมส้มที่พบในมะละกอสุกแสดงว่า มะละกอสุกมีสารไลโคพีนซึ่งเป็นสารช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย
มะละกอสุกอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ แคโรทีน วิตามินซี สารฟลาโวนอยด์ สารโฟเลต กรดแพนโทเทนิก ธาตุโพแทสเซียม แมกนีเซียม และเส้นใยอาหาร สารอาหารเหล่านี้บำรุงสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด และป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่อีก ด้วย นอกจากนี้มะละกอมีเอนไซม์ปาเปน สามารถนำมาใช้ด้านการแพทย์เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บทางการกีฬา
นอกจากนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินสบรุ๊ค ประเทศออสเตรีย พบว่ามะละกอมีสารต้านอนุมูลอิสระ สูงสุดเมื่อสุกงอม เนื่องจากคลอโรฟิลล์สีเขียวเปลี่ยนเป็นสารไม่มีสีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างเยี่ยมยอดอีกชนิดหนึ่ง เรียก NCCs (nonfluorescing chlorophyll catabolytes) สะสมบริเวณเปลือกผลและใต้ผิวเปลือก เวลาปอกมะละกอสุกจึงไม่ควรกรีดริ้วบริเวณใต้เปลือกเพราะจะสูญเสียคุณค่าอาหารนี้ไป
เมล็ดมะละกอใช้รักษามะเร็ง
ที่ประเทศอินเดียกล่าวสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ว่าเมล็ดมะละกอใช้รักษาโรคมะเร็งได้ งานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นรายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2550 นี้ว่า เมล็ดมะละกอมีเอนไซม์ไมโรซิเนส และสารเบนซิลกลูโคซิโนเลตในปริมาณมาก
สารเบนซิลกลูซิโนเลตนี้ส่วนใหญ่พบในพืชวงศ์คะน้า มีฤทธิ์ขับไล่สัตว์กินพืชในธรรมชาติ แต่มนุษย์ย่อยสารนี้โดยใช้เอนไซม์ไมโรซิเนส ได้สารต้านมะเร็ง งานวิจัยยังพบว่าสารสกัดเฮกเซนของเมล็ดมะละกอมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารซูเปอร์ออกไซด์ และมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งแบบอะป๊อปโทซิส จะเห็นว่าเมล็ดมะละกอมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้จริงตามภูมิปัญญาการแพทย์อินเดีย แต่ต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะมีการพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบันได้ต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก โรงพยาบาลทุ่งใหญ่