เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ 47 จังหวัดในวันที่ 1 ก.พ. 68 ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่า จะเป็นบทพิสูจน์บารมีของ “ระบอบบ้านใหญ่” กับตัวแทน “พรรคประชาชน (ปชน.)” ซึ่งใช้สัญลักษณ์สีส้ม โดยบ้านใหญ่ที่มีพรรคการเมืองหนุนส่งคนลงสมัคร 27 จังหวัด ส่วนพรรคสีส้มส่งคนลงชิงชัยรวม 17 จังหวัด โดยเกณฑ์บรรดาแกนนำพรรค ทั้ง “เท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน. อดีตแกนนำพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำโดย “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้าและคณะ มาร่วมกระจายลงหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งคงต้องหวังลบล้างความเห็นนักวิชาการ และนักวิเคราะห์ทางการเมือง ซึ่งคาดหมายว่า พรรค ปชน. อาจไม่ได้เก้าอี้นายก อบจ. เลยสักตัวเดียว เพราะสู้บารมีและยุทธศาสตร์บ้านใหญ่ไม่ได้ ที่เป็นการจับมือกันของพรรคต่างๆ เพื่อสู้กับพรรคสีส้ม
ส่วน พรรค พท. ที่มีผู้ช่วยหาเสียงคนสำคัญอย่าง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ยังเดินสายช่วยหาเสียงอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค. ลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครนายก อบจ. ที่ จ.ศรีสะเกษ นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ อดีต สส.พรรค พท. ซึ่งต้องช่วงชิงเก้าอี้กับคู่แข่งคนสำคัญ “นายวิชิต ไตรสรณกุล” ผู้สมัครนายก อบจ.ศรีสะเกษ ในนามกลุ่มฅนท้องถิ่น ซึ่งมีสถานะเป็นแชมป์เก่า และอดีตนายก อบจ. หลายสมัย จึงไม่ง่ายกับการคว้าชัยชนะของพรรคแกนนำรัฐบาล แม้จะได้ “นายทักษิณ” มาลงพื้นที่ช่วยหาเสียงก็ตาม จึงไม่แปลกที่การหาเสียงครั้งนี้ มีการกระทบกระทั่งกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แม้จะประกาศไม่ส่งคนลงสมัครในนามพรรค เพราะดูแลกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย เกรงอาจมีข้อครหาไม่เป็นกลาง แต่ผู้สมัครหลายจังหวัดก็มีความใกล้ชิดกับพรรค ภท. อย่าง นายวิชิต ซึ่งได้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล ลูกสาวมาเป็นผู้ช่วยหาเสียง และมีสถานะเป็นเลขานุการ รมว.มหาดไทย ซึ่ง “นายอนุทิน ชาญวีรกุล” หัวหน้าพรรค ภท. ทำหน้าที่เป็นรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย
ในการปราศรัยตอนหนึ่งเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา นายทักษิณ กล่าวว่า “ได้ข่าวว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านถูกเรียกไปสั่งการนู้นนี่ ผมบอกว่าข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลาง ถ้าข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลาง ก็ตัวใครตัวมัน วันนี้การแข่งขันทางประชาธิปไตยต้องเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม พี่น้องจะได้ใช้ดุลพินิจของพี่น้องว่าจะเลือกใครใช้งานใคร วันนี้ผมจัดทีมไว้แล้ว ทีม สส. สจ. ดังนั้นผมเอาทีมนี้มารับใช้พี่น้องและส่งต่องานให้ผม ผมจะได้ช่วยพี่น้องเต็มที่”
หลายคนอาจตีความ ต้องการปรามผู้มีอำนาจในกระทรวงมหาดไทย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ภท. ไม่ให้ชี้นำข้าราชการ ด้วยเกรงว่าจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ต้องรอดูอาจมีผลกระทบกับความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาล และมีผลกับการทำงานของฝ่ายบริหารในอนาคต
ขณะที่การปราศรัยวันที่ 2 “นายทักษิณ” บนเวทีปราศรัยที่ศูนย์ประสานงานพรรค พท. (ลานกีฬาผู้ใหญ่เฮง) อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ โดยกล่าวว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจต่างจังหวัดแย่มาก พี่น้องอยู่ต่างจังหวัดมีหนี้สินเยอะ ต้องช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เราจะลดค่าไฟฟ้าจาก 4.18 บาท เราจะลดให้เหลือ 3.70 บาท ดีไหมครับ ขั้นต่อไปจะลดเรื่องน้ำมัน แก๊ส และเรื่องของปุ๋ย ตรงไหนผูกขาดมีเสือนอนกิน จะไม่ให้เสือนอนกินแล้ว เพราะฉะนั้นคนไทยถูกเอาเปรียบมาเยอะ วันนี้กลับมาแล้ว เพื่อนเยอะ แต่เพื่อนตนต้องรักประชาชน และประเทศชาติมาก่อน ถ้าเพื่อนตนรักกำไรมากเกินไปก็ต้องเตือน กำไรเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่ารักจนคนไทยแย่ ประเทศแย่ โดยเฉพาะพี่น้องศรีสะเกษ ที่อุตส่าห์ไล่หนูตีงูเห่าให้ตน เหลืออีกสองตัวเอง จัดการให้หน่อย
น่าสนใจกับการประกาศว่า ต่อจากจะไม่ให้มีเสือนอนกิน เพราะคนไทยถูกเอาเปรียบมาเยอะ เพื่อนตนรักกำไรมากเกินไป ก็ต้องเตือน คำถาม คือ นายทักษิณ ต้องการส่งสัญญาณถึงใคร หรือจะเป็นนักธุรกิจด้านพลังงานที่มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งถ้าได้รับความร่วมมือ จะมีผลต่อการทำงานของรัฐบาลมาก โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าไฟ
ด้านความเคลื่อนไหวของ “นายวิชิต ไตรสรณกุล” ผู้สมัครนายก อบจ.ศรีสะเกษ นำผู้สมัครสมาชิก อบจ. พร้อมด้วย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล ลูกสาว ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง มาลงพื้นที่หาเสียง ตรงข้ามกับร้านเจียวกี่ ซึ่งเป็นจุดที่ นายทักษิณ เดินทางมารับประทานอาหารเช้า โดยนายวิชิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายทักษิณ ลงพื้นที่หาเสียง จ.ศรีสะเกษ ว่า คู่แข่งในอดีตส่วนตัวไม่ให้ค่า แต่ในปัจจุบันไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่จะมีพรรคการเมือง โดยเฉพาะหัวหน้าใหญ่ลงมา ยอมรับว่ามีความหนักใจ เพราะว่าคนที่มาไม่ใช่คนธรรมดา แต่ในฐานะที่เป็นคนศรีสะเกษ ก็จะลองดูว่าระหว่างกลุ่มของเราในท้องถิ่น สามารถฝ่าอะไรมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทันกระแสหรือทันกระสุน ก็คิดว่าจะสู้เต็มที่
เมื่อถามว่ามั่นใจแค่ไหน นายวิชิต เผยว่า เท่าที่พบปะพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษ ก็ยังสนับสนุนตน ช่วงนี้เรายังไม่เสียเปรียบ ยังสามารถทำคะแนนสูสีได้ แล้วจะไปหาเสียงอีกครั้งตอนนายใหญ่กลับไปแล้ว จะต้องดูว่า กระแสมากน้อยแค่ไหน แต่ปัจจุบันเชื่อว่ายังชนะอยู่ การบริหารงานท้องถิ่น มีกรอบมีกฎหมายให้ทำอยู่แล้ว ไม่สามารถทำตามหรือเอานโยบายของรัฐบาลมาทำได้
ด้าน น.ส.ไตรศุลี กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ชูนโยบายต้องเปลี่ยนนายก อบจ. คนใหม่ ว่า ต้องดูว่าเปลี่ยนแล้วได้อะไรที่ดีกว่าหรือไม่ เปลี่ยนแล้วเราจะไปเสี่ยงในสิ่งที่ไม่เคยรู้ว่าเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนทำไม พวกเราทุกคนช่วยกันทำจนศรีสะเกษพัฒนามาได้ขนาดนี้ และก็ขอบคุณนายทักษิณ ที่ชื่นชมว่าศรีสะเกษพัฒนา และเจริญขึ้นเยอะ นั่นคือสิ่งที่พวกเราทำมาตลอด เมื่อถามถึงวาทะของนายทักษิณ ที่กล่าวตอนหาเสียง ทำพิธีไล่หนูตีงูเห่า น.ส.ไตรศุลี ย้ำว่าอาจจะผิดสโลแกนหรือไม่ เอาไว้ใช้ตอนหาเสียงใหญ่ดีกว่า
ต้องถือว่า สนามเลือกตั้งเพื่อชิงเก้าอี้นายก อบจ.ศรีสะเกษ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่พรรค พท. จะคว้าชัยได้ เพราะ “นายวิชิต ไตรสรณกุล” ถือเป็นแชมป์เก่า ที่ยึดครองเก้าอี้มานาน เรียกว่างานนี้ไม่มีใครยอมใคร นายทักษิณ อาจเป็นฝ่ายผิดหวังก็ได้
ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้มีการปล่อยคลิปอีพี1 “เวิร์กช็อป บ้านเกิดเมืองนอน : สู่การพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน” ลงในโซเชียลของพรรค ในคลิปได้กล่าวถึงการให้ประชาชนมีทางเลือกผู้บริหารท้องถิ่นมีอายุ 25 ปีขึ้นไป เรื่องภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ประชาชนเลือกได้จะให้ภาษีไปใช้พัฒนาท้องถิ่นใดๆ
น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.บ้านเกิดเมืองนอน ว่า กลไกสำคัญของการพัฒนาคือเงินงบประมาณ และท้องถิ่นนั้นไม่สามารถเลือกโครงการต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญกับพี่น้องประชาชนจริงๆ ได้ เพราะสุดท้ายแล้วต้องอยู่ที่ส่วนกลางเป็นคนเลือก เป็นคนตัด แต่ท้องถิ่นสามารถเลือกได้ ถ้าเรามี พ.ร.บ.บ้านเกิดเมืองนอนเกิดขึ้น
ด้าน “นายไชยชนก ชิดชอบ” สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรค ภท. กล่าวว่า เราหวังว่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประชาชนสามารถตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของประเทศไม่มากก็น้อย เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่นของผู้บริหารทุกท่าน
ถือเป็นการผลักดันแนวทางสำคัญ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจกับการใช้งบประมาณ ที่จะนำมาพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งหวังผลถึงการเลือกตั้งนายก อบจ. แม้จะไม่ได้ส่งสมัครในนามพรรคอย่างเป็นทางการ แต่หลายพื้นที่ก็ถูกมองว่า มีความใกล้ชิดกับพรรคสีน้ำเงิน
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการรับมือการเลือกตั้งนายก อบจ. ทั่วประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้ายในวันที่ 1 ก.พ. นั้น “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ในเวทีปราศรัย กกต. ได้ส่งผู้สังเกตการณ์ไปทุกเวที ขณะเดียวกันผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ลงพื้นที่ตรวจสอบการหาเสียงว่าเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบกำหนดไว้หรือไม่ หรือมีการกระทำอะไรเกินเลยที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ มีข่าวว่าขนคนมาฟังหรือไม่ โดยมีค่าจ้างหรือไม่ กำลังให้จังหวัดรวมถึงผู้ตรวจการเลือกตั้ง รายงานมาอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับการอำนวยความสะดวกให้กับสื่อมวลชน ที่จะรวบรวมลิงก์การรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด ที่สำนักงาน กกต. ในวันที่ 1 ก.พ. นี้ ขณะเดียวกัน ได้มีการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังแอปพลิเคชันสมาร์ตโหวตด้วย คาดว่าหลังจากปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. จากนั้น 1 ชั่วโมง เมื่อมีการนับคะแนน ก็จะมีการส่งข้อมูลคะแนนตลอด ซึ่งวันที่ 28 ม.ค. จะจัดกิจกรรม Bigday ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิให้มากขึ้น โดยดึง “น้องหมูเด้ง” มาช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โดยคาดว่าจะทำให้คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้น
ต้องรอดูว่า จะพบความผิดปกติในการหาเสียงเลือกตั้ง และจำนวนผู้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่.
“ทีมข่าวการเมือง”