เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายพลัฏฐ์ นิลเนาวรัตน์ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยระหว่างการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัคร กกต.สุราษฎร์ธานี ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 3 เรื่อง รวม 10 ประเด็น และประเด็นส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการสัญญาว่าจะให้ และการจ่ายเงินเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้กับผู้สมัครบางราย ซึ่ง กกต.ประจำจังหวัด ได้ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้ตรวจการ กกต. จัดกำลังชุดสืบสวน และชุดเคลื่อนที่เร็ว เข้าสืบสวนหาข่าว ตรวจจับและเฝ้าระวัง เพื่อเป็นการป้องกันและให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และขอความร่วมมือไปยังประชาชน หากพบเห็นการซื้อสิทธิขายเสียง หรือความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็สามารถแจ้งเบาะแสผ่านทางสายด่วน กกต.1444 หรือทางแอปพลิเคชันตาสับปะรด

นายพลัฏฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แม้กำหนดการวันเลือกตั้งจะตรงกับวันเสาร์ก็ตาม โดยขณะนี้ กกต. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลหน่วยงานบริษัทห้างร้าน และผู้ใช้แรงงาน ให้แจ้งถึงเจ้าของสถานประกอบการ ให้อำนวยความสะดวกกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเดินทางไปใช้สิทธิ ณ ท้องถิ่น ของผู้มีสิทธิ ขณะเดียวกันหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้รับความสะดวก อันเนื่องเกิดมาจากกฎระเบียบของเจ้าของสถานประกอบการ ก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนมายังสำนักงาน กกต. ซึ่งขอแจ้งเตือนมายังเจ้าของสถานประกอบการ ว่าหากท่านให้ความร่วมมือหรืออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิตามสมควร จะมีความผิดอาญา มาตรา 117 ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ว่า ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควรในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รายงานข่าวแจ้งว่า นายพลัฏฐ์ ได้แจ้งหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้กำชับเรื่องการวางตัวเป็นกลางของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะไม่ควรให้ผู้สมัครรายใดรายหนึ่งเข้ามาหาเสียงกับประชาชนที่ร่วมประชุมในภารกิจของราชการ แต่ผู้สมัครสามารถเดินหาเสียงในหน่วยงานราชการได้ เท่าที่ไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีพฤติการณ์ดังกล่าว ได้เกิดขึ้นในบางพื้นที่แล้ว

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่อำเภอต่างๆ มีกระแสข่าวหัวคะแนนผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบางราย ได้ส่งหัวคะแนนย่อยในพื้นที่ ตระเวนออกพบปะชาวบ้านในหมู่บ้าน ว่า บ้านแต่ละหลังมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งกี่หัว และจดเลขบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อไปรวบรวมส่งหัวคะแนนใหญ่ โดยทราบถึงหูผู้สมัครเลือกตั้งบางราย ได้โพสต์ประชดประชันและเกิดกระแสวลี “กินเหยื่อไม่กินเบ็ด” หมายถึงรับเงินได้ แต่อย่าไปเลือกลงให้