เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาตรการให้ประชาชนโดยสารรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี เป็นเวลา 7 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในกรุงเทพฯ ว่า เป็นความพยายามที่น่าทึ่งของรัฐบาลที่จะสู้กับฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ด้วยการให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรีทุกสาย เป็นเวลา 7 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 25-31 ม.ค. 2568 หวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจะลดลง เป็นผลให้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ลดลงด้วย แต่มาตรการนี้จะใช้ได้ผล หรือเสียเงินฟรี 140 ล้านบาท
1. จะมีคนจอดรถยนต์ส่วนบุคคลมาขึ้นรถไฟฟ้าหรือไม่
มีแต่น้อยมาก พูดได้ว่าไม่มีนัยสำคัญ พิสูจน์ได้โดยเปรียบเทียบปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนที่มีรถไฟฟ้าวิ่ง เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนพญาไท ถนนรัชดาภิเษก และถนนลาดพร้าว เป็นต้น ในช่วง 7 วัน ก่อนและหลังการใช้รถไฟฟ้าฟรี นั่นคือระหว่างวันที่ 18-24 ม.ค. 2568 ซึ่งเป็นช่วง 7 วัน ที่ไม่ให้ใช้รถไฟฟ้าฟรี กับวันที่ 25-31 ม.ค. 2568 ซึ่งเป็นช่วง 7 วัน ที่ให้ใช้รถไฟฟ้าฟรี ผมคาดว่าปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลใน 2 ช่วงเวลาดังกล่าว จะไม่ต่างกันมาก ที่สำคัญอย่านำปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าระหว่าง 2 ช่วงเวลาดังกล่าวมาเปรียบเทียบ เพราะปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าในช่วงให้ใช้รถไฟฟ้าฟรีอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่ได้มาจากผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพราะผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลส่วนใหญ่รักความสะดวกสบาย คงไม่ยอมเปลี่ยนใจมาขึ้นรถไฟฟ้า ผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอาจมาจากผู้โดยสารรถเมล์ หรือนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หรือผู้ที่ไม่เคยใช้รถไฟฟ้า หรือไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้รถไฟฟ้า อาจถือโอกาสนี้นั่งรถไฟฟ้าไปเยี่ยมญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง พบปะสังสรรค์ หาอาหารอร่อยๆ รับประทาน ชอปปิง และ/หรือ กินลมชมวิวกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็ได้
2. จะมีคนจอดรถยนต์ส่วนบุคคลมาขึ้นรถเมล์หรือไม่ คำตอบคือ ยาก เพราะไม่สะดวกสบายเหมือนใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
3.สรุป มาตรการให้ใช้รถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี 7 วัน ระหว่างวันที่ 25-31 ม.ค. 2568 จะไม่ทำให้ปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลง ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของรัฐบาล แต่จะทำให้รถไฟฟ้าในช่วงเวลาเร่งด่วนซึ่งมีผู้โดยสารแน่นแออัดอยู่แล้วแน่นยิ่งขึ้นด้วยเหตุนี้ เงินชดเชยให้เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าช่วง 7 วัน ประมาณ 140 ล้านบาท ก็จะไม่เกิดประโยชน์ตามความประสงค์ของรัฐบาล นำเงินดังกล่าวไปใช้ในการควบคุมไม่ให้มีการเผาไหม้จะได้ผลดีกว่า ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีที่ไม่อยากเห็นกรุงเทพฯ เป็น “มหานครจมฝุ่น”