ภายหลังรองปลัดมหาดไทย เซ็นคำสั่งคืนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ มีการประเมินว่า กระทรวงมหาดไทยต้องจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วม 7.7 พันล้าน เรื่องนี้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย บอกว่า อย่าเพิ่งคิดไปไกลว่า มูลค่ามันจะขนาดนั้น และไม่ทราบว่าใครไปตีราคา เรื่องนี้ยังไม่ถึงจุดที่รัฐมนตรีต้องให้นโยบาย เพราะทั้งหมดอยู่ที่กรมที่ดิน ส่วนตัวก็ยังไม่เชื่อว่าหากทุกอย่างมาด้วยสิ่งที่ไม่ถูกต้องแล้ว รัฐจะต้องเป็นคนไปชดใช้ทั้งหมด เราก็ต้องสืบสวนและต้องมีการฟ้องร้องต่อ

“เชื่อว่าอย่างไรก็ตามต้องมีการฟ้องร้องโดยผู้เสียหายคือผู้ใช้ที่ดินบริเวณอัลไพน์ เมื่อเข้ากระบวนการก็ต้องสอบสวน กระทรวงมหาดไทยไม่ตั้งงบจ่าย เรื่องพวกนี้เราไม่มีงบจ่าย ถ้าศาลสั่งจริงๆ ก็ต้องใช้งบกลาง ก็ต้องไปถามสำนักงบประมาณว่าหากมีการพิพากษาให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายให้กับคู่กรณีจะต้องดำเนินการอย่างไร ไม่ทราบว่าจะถึงขั้นต้องใช้ พ.ร.บ.โอนที่ดินให้ผู้เสียหายแทนชดใช้เงินหรือไม่ ย้ำว่ามหาดไทยไม่ตั้งงบ และเมืองไทยกว่าจะจบก็ต้องรอ 3 ศาล เหลือเวลาอีกนาน ตอนนั้นพวกผมคงไม่อยู่แล้ว อาจอีก 20 ปีถึงจะเสร็จ” นายอนุทิน กล่าว
สีสันทางการเมืองอีกเรื่องหนึ่งที่แข่งกันดุเดือดก่อนวันเลือกตั้ง 1 ก.พ. คือเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นายสานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13-19 ม.ค. 2568 ได้ทำการสำรวจโพลในหัวข้อ “เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2568” กลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย จากทั่วทุกภูมิภาค ในกลุ่มที่เลือกนายก อบจ. 47 จังหวัด เมื่อถามว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นพรรคใดมีสิทธิชนะมากสุด พบว่าประชาชนให้พรรคเพื่อไทย 30.6% พรรคภูมิใจไทย 20.8% พรรคประชาชน (ปชน.) 20.5% ปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจเลือกนายก อบจ. ได้แก่ เลือกเพราะพรรคการเมืองที่สังกัด 45.6% เลือกตัวผู้สมัคร 32.8% หัวหน้าพรรคการเมืองที่สังกัด 21.6%
การเลือกตั้ง อบจ.ศรีสะเกษ เป็นที่จับตามองการชิงเก้าอี้ระหว่าง “นายกส้มเกลี้ยง” วิชิต ไตรสรณกุล อดีตนายก อบจ.บ้านใหญ่ศรีสะเกษที่มีความใกล้ชิดกับพรรคภูมิใจไทย และ นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ที่พรรคเพื่อไทยส่งชิงเก้าอี้ ซึ่งว่ากันว่าเป็นปฏิบัติการภาคต่อของการ “ตีหนูไล่งูเห่า” จากที่ สส.ศรีสะเกษพรรคเพื่อไทยได้ย้ายไปภูมิใจไทยส่วนหนึ่ง “อดีตนายกฯ แม้ว” ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง มาหาเสียงช่วยนายวิวัฒน์ชัยด้วยตัวเอง อดีตนายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า “ผมอยากได้มือไม้มาช่วยทำงานให้รัฐบาล วิวัฒน์ชัยอยู่ไทยรักไทยกับผมมาตั้งแต่ตั้งพรรคแล้ว ไม่เคยไปไหนเลย ไม่เคยเบี้ยวผมเลย บางคนยังเบี้ยวตลบตะแลง หลบซ้ายหลบขวาอยากจะกระทืบมัน วันนี้ผมเลยต้องมาช่วยเขาเป็นพิเศษ”

อันนี้ก็ไม่ทราบว่าหมายถึงใคร ที่ “เบี้ยวตลบตะแลงจนอยากกระทืบ” จะเกี่ยวกับภูมิใจไทยหรือไม่
อดีตนายกฯ แม้ว กล่าวด้วยว่า วันนี้กลุ้มใจอยู่อย่างหนึ่ง คือธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยกำไรดีทุกธนาคาร หนี้เสียน้อยมากซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะภูมิใจ แต่เสียใจที่เศรษฐกิจแย่มากเพราะ ธปท.ชอบดูดเงินออกจากระบบ เลยไม่มีเงินมาเลี้ยงเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์ก็ง่ายดีถึงเวลาก็ออกไปซื้อบอนด์ เลยไม่มีเงินให้กู้ วันนี้รถก็ขายไม่ออก บ้านก็ขายไม่ออก แบบนี้ผิดหมด ต้องนำเงินกลับมาสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อพี่น้องมีตังค์ใช้แก้ปัญหาหนี้สิน

นายทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับคะแนนคาดว่าสูสี น่าจะใกล้เคียงกันแต่ว่าโอกาสชนะของพรรคเพื่อไทยน่าจะสูงกว่า ซึ่งสส.ในพื้นที่มี 7 คน ทุกคนทำงานเต็มที่ ของเขา (พรรคภูมิใจไทย) ก็คงมีอดีต สส. เราก็น่าจะสู้ไหว พื้นที่นี้ไม่ค่อยมีปัญหา โอกาสเป็นพรรคอื่นยากก็สู้กันแค่สองคน ที่ศรีสะเกษ พรรคประชาชน (ปชน.) ไม่ใช่คู่แข่งสำคัญ
“เสี่ยหนู” อนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ได้ให้กำลังใจ “กวาง” ไตรศุลี ไตรสรณกุล นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ในฐานะ ลูกสาวและผู้ช่วยหาเสียงของนายกส้มเกลี้ยง เขามั่นใจว่าจะชนะ เพราะเป็นคนพื้นที่ เป็นคนศรีสะเกษ และบอกว่าไม่ต้องไปช่วย ทั้งที่ความจริงอยากจะไปช่วยซึ่งไม่ใช่การขึ้นบนเวที เป็นการไปตบไหล่ ตบหัว ให้กำลังใจ แต่ น.ส.ไตรศุลี บอกว่า ไม่ต้องมา สบายมาก ซึ่งทางศรีสะเกษเขามั่นใจของเขา ถ้าไม่มั่นใจคงแสดงความกังวลออกมาแล้ว
ศรีสะเกษจึงเป็นจังหวัดที่น่าจับตามาก ว่าเพื่อไทยจะล้มแชมป์เก่าได้หรือไม่ ดึงเสียงกลับจากภูมิใจไทยได้หรือไม่
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในบางตำแหน่ง อาทิ “รมต.ปุ๋ง” สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กรณีพ้นจากตำแหน่ง สส.เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคือ รมว.วัฒนธรรม แจ้งสถานะว่าโสด มีทรัพย์สิน 749,292,603 บาท อาทิ เงินฝาก 25 บัญชี 21,101,861 บาท เงินให้กู้ยืม 413,924,000 บาท ที่ดิน 63 แปลง 220,430,350 บาท

“ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีพ้นจากตำแหน่ง สส.เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 แจ้งสถานภาพหย่าร้าง มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย 1 คนยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทิม พิธา แจ้งบัญชีทรัพย์สินละเอียดยิบ แจ้งมีทรัพย์สิน 63,501,166 บาท อาทิ เงินฝาก 25 บัญชีจำนวน 2,196,542 บาท เงินลงทุน 1,399,510 บาท เงินให้กู้ยืม ให้กับนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ 13 ล้านบาท ที่ดิน 2 แปลงที่อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ รวมมูลค่า 11,776,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นห้องชุด ที่กรุงเทพฯ 15 ล้านบาท ยานพาหนะ 2,140,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 4,048,142 บาท

และทรัพย์สินอื่น 12,140,970 บาท ประกอบด้วยโทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง มูลค่า 166,700 บาท เสื้อ 28 ตัว มูลค่า 188,000 บาท สูท 17 ตัว 1,200,000 บาท เนกไท 76 เส้น 228,000 บาท รองเท้า 21 คู่ 150,000 บาท อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 33 ชิ้น 1,742,680 บาท ชุดเฟอร์นิเจอร์ 1 ชิ้น 100,000 บาท กล้อง 3 ตัว 657,690 บาท นาฬิกา 10 เรือน 5,707,900 บาท พระเครื่อง 8 องค์ 2,000,000 บาท ส่วนรายการหนี้สินเป็นเงินเบิกเกินบัญชีจำนวน 1,037,017 บาท
รายได้ต่อปี จำนวน 4,235,686 บาท แบ่งเป็น เงินเดือน 1,680,688 บาท ค่าลิขสิทธิ์ หนังสือ 554,998 บาท รายได้จากการชำระคืนเงินกู้ 2 ล้านบาท รายจ่ายต่อปี 2,780,973 บาท ประกอบด้วย ค่าอุปโภคบริโภค 2,400,000 บาท ค่าเบี้ยประกัน 80,973 บาท ค่าท่องเที่ยว 300,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าส่งเสียเลี้ยงดูบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จำนวน 561,985 บาท ประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน 413,000 บาท ค่าอุปโภคบริโภค 120,000 บาท และค่าเบี้ยประกัน 28,985 บาท
พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี กรณีพ้นจาก สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (ลาออกเพราะถูกฟ้องว่าเกี่ยวข้องกับคดีตากใบ) เมื่อ 14 ต.ค. 2567 แจ้งมีทรัพย์สินพร้อมคู่สมรสคือนางมณีรัตน์ ทั้งคู่มีทรัพย์สินรวมกัน 46,103,958 บาท มีหนี้สินรวมกัน 186,112 บาท เป็นทรัพย์สินของ พล.อ.พิศาล 10,675,196 บาท เป็นเงินฝาก 12 บัญชี รวม 2,842,196 บาท ที่ดิน ในจังหวัดเพชรบุรี สงขลา ขอนแก่น รวม 5 แปลง มูลค่า 5,280,000 บาท
น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย กรณีเข้ารับตำแหน่ง สว. โดย น.ส.เกศกมล และนายอนุสรณ์ หนังสือ คู่สมรสซึ่งจดทะเบียนเมื่อ 21 ส.ค. 2550 และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่เปิดเผยชื่อและอายุรวม 4 คน แจ้งมีทรัพย์สินรวม 126,804,479 บาท มีหนี้สินรวม 43,211,671 บาท แบ่งเป็นทรัพย์สินของ น.ส.เกศกมล 86,815,845 บาท ที่น่าสนใจคือ “แจ้งรายได้จากการแขวนป้าย (หมอ)” ซึ่งรายได้จากการแขวนป้าย คือแพทย์ที่ให้ใช้ชื่อตนเองเปิดสถานพยาบาล โดย สว.เกศกมล แจ้งรายได้ตรงนี้ 210,000 บาท
เรื่องนี้เป็นที่วิจารณ์มากว่ารายได้ดังกล่าวมีที่มาอย่างไร เนื่องจากประกาศของแพทยสภากำหนดห้ามแพทย์ทำการแขวนป้ายโดยไม่ได้ทำการตรวจรักษาจริง เข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 แหล่งข่าวระดับสูงจากแพทยสภา กล่าวว่า ที่มารายได้ของแพทย์ไม่ควรมาจากการแขวนป้าย แต่อาจเป็นรายได้จากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ก็ต้องดูว่า ดูแลผู้ป่วยจริงหรือไม่ เป็นรายได้ที่แน่นอนทุกเดือนหรือไม่ ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
“การแขวนป้ายนั้นและไม่ได้ประกอบวิชาชีพเองนั้นห้ามกระทำ มีโทษรุนแรง เรื่องนี้ต้องดูทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ตรวจสอบว่า เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไหน แพทยสภามีหน้าที่ในการรับรองส่งต่อจาก สบส.ว่ามีการแขวนป้ายจริงหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส.กล่าวว่า กรณีแขวนป้าย ถ้าเป็นคนที่เอาใบประกอบวิชาชีพมายื่นกับผู้ประกอบกิจการ แต่ตัวเขาอาจจะไม่ได้มาอยู่ดูแลคลินิกอย่างใกล้ชิด เอาแค่ป้ายมาแขวนไว้ ถือว่าผิดกฎหมาย เจ้าของต้องจัดให้มีผู้ดำเนินการดูแลคลินิกของตัวเองอย่างใกล้ชิด แพทย์ผู้ดำเนินการปล่อยปละละเลย ไม่มาควบคุม ปล่อยให้มีการเอาคนอื่นมาทำหน้าที่เป็นแพทย์ให้บริการคนไข้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท สบส.ขอไปตรวจสอบก่อนว่า คำว่า “แขวนป้าย” นั้น เขาได้ดูแลคลินิกอย่างใกล้ชิดหรือไม่ ถ้าช่วงเวลาที่ไม่อยู่นั้น มีผู้มาดำเนินการแทนหรือไม่
ก็รอดูว่า “งานจะเข้า” สว.คนนี้อีกเรื่องหรือไม่