สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ว่ารายงานของยูนิเซฟระบุว่า คลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กมากที่สุด เนื่องจากพวกเขา “เสี่ยง” ต่อสภาพอากาศที่เลวร้ายมากกว่า รวมถึงรู้สึกร้อนขึ้นในเวลารวดเร็ว เหงื่อออกไม่ทั่วถึง และตัวเย็นช้ากว่าผู้ใหญ่

ข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่า นักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายต้องหยุดเรียน เลื่อนวันหยุด เปิดเรียนใหม่ล่าช้า เลื่อนตารางเรียน หรือโรงเรียนได้รับความเสียหาย หรือถูกทำลายตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน

ทั้งนี้ มีเด็กอย่างน้อย 171 ล้านคนได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน และเมื่อเดือน เม.ย. 2567 เพียงเดือนเดียว มีเด็ก 118 ล้านคนจากบังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย ไทย และฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมถึง 18 ประเทศ ซึ่งต้องหยุดการเรียนการสอน เนื่องจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นยางิ ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ภูมิภาคซึ่งได้รับความเดือดร้อนหนักที่สุดคือเอเชียใต้ มีเด็กนักเรียนได้รับผลกระทบ 128 ล้านคน และมากที่สุดในอินเดีย 54 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เกิดจากคลื่นความร้อน ขณะที่ในบังกลาเทศมีเด็กได้รับผลกระทบ 35 ล้านคน

ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป เนื่องจากอุณหภูมิยังสูงขึ้น และครึ่งหนึ่งของเด็กทั่วโลก หรือประมาณ 1,000 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงดำเนินต่อไป เด็ก ๆ จะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนในปี 2593 เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2543 รวมถึงน้ำท่วมที่รุนแรงกว่าเดิม 3 เท่า และไฟป่าเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า

ขณะนี้ เด็กทั่วโลกประมาณ 2 ใน 3 ไม่สามารถอ่านหนังสือได้อย่างเข้าใจ ภายในอายุ 10 ขวบ และรายงานเตือนด้วยว่า ภัยธรรมชาติกำลังทำให้ความจริงนี้เลวร้ายลง.

เครดิตภาพ : AFP