จากกรณีคนดังอย่าง นายพัฒนพล กุญชร หรือ ดีเจแมน และ น.ส.สุธีวัน กุญชร หรือ ใบเตย ซึ่งศาล “ยกฟ้อง” คดีแชร์ Forex 3-D จนถึงคดีดิ ไอคอนที่อัยการ “สั่งไม่ฟ้อง” นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือ แซม และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือ มิน นักแสดงดัง นอกเหนือความสนใจทางคดี ผลลัพธ์ที่ถูก “ยกฟ้อง” และ “สั่งไม่ฟ้อง” กลายเป็นที่ถกเถียง ทวงถาม เป็นบทบาทของใคร

ในเรื่องนี้ “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามเพื่อทำความเข้าใจหลักการเยียวยาปัจจุบันกับ นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิฯ ซึ่งอธิบายถึงกระบวนการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยเยียวยาจากการถูก “คุมขัง” ว่า กรณีดีเจแมนและใบเตย ศาลอาญาพิพากษา “ยกฟ้อง” ด้วยเหตุพยานหลักฐาน “ยังมีข้อสงสัย” การชดเชยเยียวยาค่าตอบแทน เป็นบทบาทของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ตามหลักการของ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559) อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเยียวยาต้องรอคดี “ถึงที่สุด” ก่อน

นายธีรยุทธ ระบุ แม้จะคล้ายกรณี นายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือ เบนซ์ เรซซิ่ง ที่ศาลฎีกาพิพากษา “ยกฟ้อง” ข้อหาสมคบค้ายาเสพติด แต่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯก็ยังต้องพิจารณาพฤติการณ์ทางคดีและข้อกล่าวหาประกอบ ดังนั้น หากสมมุติว่าศาลอาญายกฟ้องจำเลยทั้งสองรายด้วยเหตุผล “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” และเมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณารายละเอียดแล้วพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจริง ก็อาจพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยา

ทั้งนี้ การพิจารณารายละเอียดคำพิพากษายกฟ้องในกรณีแมนและใบเตย คณะกรรมการฯ จะดูเพียงในส่วนทั้งคู่ว่าศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลใด แม้คดีนั้นอาจมีคำพิพากษารายจำเลยต่างกันออกไปตามพฤติการณ์ความผิดก็ตาม แต่ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ในศาลชั้นต้นเท่านั้น หากอัยการในฐานะโจทก์อุทธรณ์อย่างไร ก็ต้องรอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพราะต้องยึดกระบวนการให้ “คดีถึงที่สุด” ก่อน

“ต้องมีการนำเทียบเคียงระหว่างคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จากนั้นจึงมีการพิจารณาเยียวยาได้ เเต่หากภายใน 30 วัน อัยการไม่อุทธรณ์ ก็จะสิ้นสุดที่ศาลนั้น ๆ สามารถนำคำพิพากษายกฟ้องของศาลชั้นต้นมาพิจารณาได้”

นายธีรยุทธ ยังชี้แจงกรณีศาลชั้นต้นยกฟ้องแมนและใบเตย ถือว่าทั้งคู่เป็น “จำเลยในคดีอาญา” หรือชาวบ้านเรียกว่า “แพะ” เนื่องจากทั้งคู่ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อศาลแล้ว การเยียวยาจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ ต่างจากกรณีของแซมและมิน ซึ่งยอมรับว่าจุดนี้ยังเป็นช่องว่างกฎหมาย เพราะปัจจุบันกระบวนการเยียวยาจะเน้นไปผู้เสียหาย ส่วนจำเลยในคดีอาญา กฎหมายรองรับไว้เฉพาะกรณีที่อัยการ “สั่งฟ้อง” แล้วถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี แต่แซมและมิน ทั้งคู่เป็นเพียง “ผู้ต้องหา” ที่ถูกพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขัง

“หากพูดถึงตัวกฎหมายในปัจจุบันจะส่งผลให้แซมและมิน อาจไม่ได้รับการเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ ที่มีอยู่ แต่ทั้งคู่ยังมีสิทธิยื่นขอรับการชดเชยจากกองทุนยุติธรรมจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเท่าใด ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ “ผู้ต้องหา” ในคดีที่ถูกอัยการสั่งฟ้อง แต่ปรากฏภายหลังว่าศาลยกฟ้องจะต้องนับย้อนไปตั้งแต่วันที่อัยการสั่งฟ้องจนถึงวันที่ศาลยกฟ้อง โดยคำนวณรวมกับวันที่ผู้ต้องหาถูกฝากขังด้วย

“เดิมทีเราพูดถึงแค่เพียงผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา แต่ครั้งนี้เราจะแก้เพื่อให้ครอบคลุมถึงคำว่าผู้ต้องหา โดยต้องเป็นผู้ต้องหาที่ถูกฝากขังระหว่างการสอบสวน แล้วอัยการสั่งไม่ฟ้องเท่านั้น”

นายธีรยุทธ ยังระบุถึง การพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยากองทุนยุติธรรมว่าเป็นดุลพินิจคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ต้องพิจารณารายละเอียดทางคดี ทั้งในส่วนผู้ที่ถูกอัยการสั่งไม่ฟ้องและในส่วนจำเลยรายอื่นในคดี เพราะหลายกรณีที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ มักดูเกี่ยวเนื่องในส่วนจำเลยคดีเดียวกัน เพื่อให้ได้รับรายละเอียดข้อเท็จจริงรอบด้านมากที่สุด

“กระบวนการของมินและแซม ยังอยู่ระหว่างที่พนักงานอัยการในฐานะโจทก์ต้องส่งเอกสารความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปยังดีเอสไอ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งหรือเห็นพ้องกับที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หากเห็นแย้งต้องส่งหนังสือขอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดแทน”

ดังนั้น หมายความว่ากระบวนการทางคดีของแซมและมิน จะสิ้นสุดต่อเมื่ออัยการสูงสุดได้ชี้ขาดว่าอย่างไร จึงสามารถขอยื่นใช้สิทธิขอรับการชดเชยเยียวยาจากกองทุนยุติธรรมก็เป็นได้.

ทีมข่าวอาชญากรรม  รายงาน