เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 22 ม.ค. 68 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….โดยนายกฤดิทัช แสงธนโยธิน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม (กธ.) 1 ในผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรคนไทยให้มีการปรับตัวและปรับปรุงวิธีการเลี้ยง วิธีการผลิตเพื่อให้ต่อสู้กับบริษัทต่างชาติที่จะมีผลิตภัณฑ์หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องแก้ไขคือ เกษตรกรไทยต้องปรับตัว รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น ในส่วนที่ไม่จำเป็น และไม่สำคัญ ต้องเอาออกไป และเอาคนหรือหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญเข้ามา เพื่อให้ Milk Board มีความคล่องตัวในการจัดการปัญหาให้เกษตรกร 

“เราอยากเห็นเกษตรกรไทยสู้กับต่างชาติที่จะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้ามาตีตลาดในประเทศไทย แต่ Milk Board จะต้องกำกับดูแลทั้งเรื่องคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ และการกำหนดราคา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงจำเป็นจะต้องอาศัยหน่วยงานที่มีความคล่องตัวและมีความชัดเจนในการดูแลพี่น้องเกษตรกร ผมจึงขอให้สมาชิกรัฐสภาช่วยกันพิจารณาและรับหลักการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนคนไทยให้สามารถต่อสู้และแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีได้” นายกฤดิทัช กล่าว

ด้านนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา เขต 2 พรรคกล้าธรรม และอดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอภิปรายต่อ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ตนขอลงรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม  ที่นายกฤดิทัชเป็นผู้เสนอ ซึ่งตนเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นม โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการปรับคำนิยามต่างๆ ให้มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น คำนิยามน้ำนมโค จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำนมที่รีดจากแม่โคหลังจากคลอดลูก โดยไม่มีคำว่า 3 วัน ซึ่งเจตนารมณ์ของผู้เสนอต้องการกำหนดให้ชัดลงไปเลยว่า น้ำนมโคที่จะถูกนำไปใช้และขายให้กับผู้บริโภคจะต้องไม่มีส่วนผสมของน้ำนมเหลือง 

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ตนได้พูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลายราย ซึ่งพวกเขาก็เข้าใจในเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่การเสนอแก้กฎหมายฉบับนี้จะทำให้การบริหารจัดการมีความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้นายกฤดิทัช ยังให้ความสำคัญไปถึงเรื่องของโครงสร้าง Milk Board โดยได้เสนอให้คงตำแหน่งประธานไว้ ก็คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะสถานการณ์การเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะทำให้เกิดสุญญากาศ แต่ปลัดกระทรวงจะยังทำงานต่อไปได้ แต่ที่เสนอเปลี่ยนคือเลขานุการจากเดิมเป็นผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

มาเป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์ เพราะป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งตนก็เห็นด้วย

“การเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้หน่วยงานภาครัฐเกิดความตื่นตัว ผมจึงขอเชิญชวนเพื่อน สส.ให้ช่วยกันเห็นชอบรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพราะเชื่อว่า การรับหลักการครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม” นายอรรถกร กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ และให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ในการประชุมคราวต่อไป.