นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า กำลังเร่งพัฒนาปรับปรุงคุณภาพบริการ และพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับการให้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางและเป็นท่าอากาศยานที่ดีในระดับสากล โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีเป้าหมายให้ติดอันดับ 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกในปี 2568 และติดอันดับ 1 ใน 20 ในปี 2572 ตามนโยบายรัฐบาล โดยปี 2567 สกายแทร็กซ์ (Skytrax) จัดอันดับให้ ทสภ. อยู่ในอันดับที่ 58 มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย

นายกีรติ กล่าวต่อว่า เมื่อกลางปี 2567 ทสภ. ได้เข้าร่วมโครงการ Skytrax ภายใต้โปรแกรม World Airport Audit ซึ่งเป็นโครงการประเมินมาตรฐานการให้บริการของท่าอากาศยานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยประเมินจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของ Skytrax เพื่อนำข้อเสนอแนะมาพัฒนา และปรับปรุงให้ได้มาตรฐานสากล สร้างความพึงพอใจให้ผู้โดยสาร และการันตีว่าการให้บริการของ ทอท. เทียบเท่าสนามบินชั้นนำของโลก ทสภ. ได้รับการชี้ประเด็นว่ามีจุดด้อย อาทิ ความแออัดภายในอาคารผู้โดยสาร ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก มีแถวคอยในกระบวนการเดินทางของผู้โดยสารทุกขั้นตอนค่อนข้างยาว ใช้เวลานาน จุดชาร์จไฟมีน้อย และที่นั่งน้อย ผู้โดยสารนั่งกับพื้น เป็นต้น

นายกีรติ กล่าวอีกว่า ทอท. ได้เร่งแก้ไขในทุกจุดที่เป็นปัญหา ปัจจุบันนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอน เพื่อลดระยะเวลารอคอยในกระบวนการผู้โดยสาร อาทิ การตรวจลงตราหนังสือเดินทางด้วยเครื่อง Automated Border Control (ABC) หรือเครื่อง Auto Channel, เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) ระบบ Biometric เพื่อระบุตัวตนผู้โดยสาร ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า หากผู้โดยสารยินยอมให้ระบบจดจำใบหน้า จะเดินผ่านเครื่องสแกนใบหน้าที่ติดตั้งบริเวณจุดตรวจเอกสาร และบริเวณทางออกประตูขึ้นเครื่องได้ทันที ทำให้ระยะเวลาการใช้บริการของแต่ละจุดบริการลดลงเหลือประมาณ 1 นาทีจากเดิมประมาณ 3 นาที

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ ทำให้ผู้โดยสารทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ใช้เวลาน้อยลงในแต่ละจุดบริการ เดิมจากขั้นตอนการเช็กอิน จนถึงขึ้นเครื่องบิน จะใช้เวลามากกว่า 30 นาที ลดเวลาเหลือไม่เกิน 30 นาที ขณะเดียวกัน ทอท. ยังได้เพิ่มพื้นที่ให้บริการกิจกรรมสันทนาการ และความบันเทิง สนามเด็กเล่น พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่สำหรับนั่งทำงาน เพิ่มเก้าอี้นั่งพักคอยเพื่อให้ผู้โดยสารได้ผ่อนคลาย เกิดความประทับใจ ได้รับประสบการณ์การเดินทางที่ดีมากขึ้น นอกจากนี้ยังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขีดความสามารถ ทสภ.รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี


นายกีรติ กล่าวอีกว่า ปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66-ก.ย. 67) มีผู้โดยสารมาใช้บริการ ทสภ. ประมาณ 60 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี 346,680 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 17.88% ปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 67-ก.ย. 68) คาดว่า ทสภ. จะมีผู้โดยสาร 64.44 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.40% และมี 376,820 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.69% ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 61-ก.ย. 62) ก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีผู้โดยสาร 64.71 ล้านคน 378,900 เที่ยวบิน.