นายเผ่าภูมิ  โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งไทยศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ว่า ขณะนี้คลังได้ยกร่างพ.ร.บ.ศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือฟิน ฮับ เสร็จแล้ว โดยเป็นกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ ประกอบด้วย 96 มาตรา โดยหลังจากนี้จะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ไม่เกินต้นเดือนก.พ.นี้ และเร่งนำเข้าประชุมสภาทันสมัยนี้ช่วงมี.ค. เพื่อให้กฎหมายเสร็จมีผลบังคับได้ในปลายปีนี้ มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของอาเซียนแทนสิงคโปร์

สำหรับสาระสำคัญ ต้องการดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2.ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3.ธุรกิจหลักทรัพย์ 4.ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6.ธุรกิจประกันภัย 7.ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ 8.ธุรกิจทางการเงินอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ให้เข้ามาลงทุน ตั้งบริษัทในไทย ในเขตพื้นที่ที่กำหนดและต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ไม่ได้ให้บริการแก่คนไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสถาบันการเงินไทย

อย่างไรก็ตาม จะยกเว้นอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณี  ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้ ด้านตลาดทุนสามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้ ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำอินเตอร์แบงก์กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้  ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้  

นอกจากนี้ ให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การกำกับดูแลจะมีการตั้งสำนักงาน และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน  ขึ้นเป็นหน่วยงานกำกับดูแลแบบครบวงจร โดยมี รมว.คลัง เป็นประธาน  ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แนวทางการส่งเสริม กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข โดยจะได้รับการยกเว้นกฎหมายการเงิน 7 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายที่เกี่ยวกับระบบการชำระเงิน กฎหมายหลักทรัพย์  กฎหมายการซื้อขายล่วงหน้า และกฎหมายเกี่ยวกับประกันชีวิตและวินาศภัย แต่จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายที่เป็นมาตรฐานสากล

“กฎหมายนี้ผ่านรับฟังความเห็นจากทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันออกแบบสิทธิประโยชน์ พัฒนาระบบนิเวศ บุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค”