วันที่ 21 ม.ค. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปพูดคุยกับคู่รักที่เตรียมที่จะจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ภายหลังจากที่รัฐบาล โดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีความพร้อมสำหรับการอำนวยความสะดวก ในการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ม.ค. ที่จะถึงนี้ ทั่วทั้งประเทศ ภายใต้แนวทางสมรสเท่าเทียม ยินดีกับทุกความรัก 878 อำเภอ ทั่วไทย

น.ส.ผกาสินี หอวิจิตร คู่รักที่จะจดทะเบียนสมรส กล่าวว่า เรื่องการแต่งงานมีการพูดคุยกันมากับแฟนได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะว่าอยากแต่งงานกันจริงๆ โดยส่วนตัวตอนนี้คบกันมาได้ 9 ปี และทางผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย ก็มีการคุยกันเรียบร้อยแล้ว และมีการวางแผนไว้หมดแล้ว ประจวบเหมาะกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านพอดี จะเป็นเรื่องการยอมรับหลังจากแต่งงานและจะได้จดทะเบียนสมรสต่อได้เลยเป็นอะไรที่ถูกต้องตามกฎหมายจริงๆ สักที และในเรื่องของสิทธิต่างๆ คู่สมรสจะได้ตรงนี้ไปด้วย ไม่ใช่แค่แต่งกันในนาม รู้สึกดีใจมากเพราะว่าติดตามเรื่องนี้มาพอสมควร อยากให้กฎหมายตัวนี้ผ่านนานแล้ว 

“ความกังวลใจหลังจากกฎหมายผ่านแล้ว จะมีเรื่องคำนำหน้าหลังจากที่จดทะเบียนสมรส อยากจะให้ตรงตามเพศสภาพ ตัวเราเองอยากเป็นผู้ชาย คำนำหน้าก็อยากใช้นาย และในอนาคตกฎหมายลูกที่จะแก้ไข ก็อยากจะให้แก้ตรงนี้ และเรื่องกฎหมายลูกเรื่องการใช้สิทธิรักษาพยาบาล เพราะตอนนี้เบื้องต้นจะผ่านเฉพาะเซ็นยินยอมให้รับการรักษาผ่านแล้ว หลังจากกฎหมายตัวนี้ออก แต่เรื่องสิทธิที่จะได้รับ จะเป็นกฎหมายลูกที่จะต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป”

ขณะที่ น.ส.ปุญชรัสมิ์ ตาเลิศ ประธานชมรมหลากหลายทางเพศเมืองขอนแก่น กล่าวว่า ดีใจที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ที่จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่คู่รักทุกคู่ที่เป็นคนไทยและคู่รักที่มีคู่ชีวิตเป็นชาวต่างชาติ ที่จะสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกตามกฎหมาย และที่สำคัญยังได้รับเรื่องสิทธิประโยชน์ รวมไปถึงสิทธิเหมือนคู่สมรสทั่วๆ ไป ที่สามารถจดทะเบียนได้ และที่สำคัญเป็นเหมือนก้าวแรกที่จะทำให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทย คือประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนและเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย ที่มีกฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

“ไม่มีความกังวล เนื่องจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว จะเป็นเหมือนกลไกของกฎหมายที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง หรือกฎหมายลูกเพื่อให้เกิดการใช้กฎหมายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนตามรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย เพราะคนไทยทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชีย ที่จะมีกฎหมายคุ้มครอง ปกป้องสนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเหมือนชายหญิงทั่วไป”

ประธานชมรมหลากหลายทางเพศเมืองขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายที่ออกมาเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้มาก เพราะก่อนหน้านี้กระแสที่ยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งในไทยและในภูมิภาคเอเชีย ไม่ได้รับการตอบรับดีขนาดนี้ แต่พอมีการขับเคลื่อนมีกฎหมายทั้งภาคประชาสังคม ภาคประชาชน รวมไปถึงรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ที่มีการเสนอกฎหมาย รวมไปถึงเรื่องที่ทำให้เกิดสิทธิกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขกฎหมาย

“สิ่งที่อยากเห็นในอนาคต นอกจากเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม อยากเห็นกฎหมายที่รองรับอัตลักษณ์ของเพศสภาพ การรับรองเพศ อยากมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะที่ถูกรับรองว่าเป็นเพศหญิง และสามารถใช้คำนำหน้าชื่อเป็น น.ส. ได้ เพื่อที่จะเป็นกฎหมายคุ้มครองกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเสมอภาค และมีคุณค่าในตัวเอง เป็นสิ่งที่อยากเห็นในอนาคต รวมไปถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้ครอบคลุมกับคนทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฮอร์โมนในการข้ามเพศ การผ่าตัดเพื่อการยืนยันเพศ รวมไปถึงเรื่องสวัสดิการการดูแลสุขภาพสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ ที่รองรับกับคนทุกเพศทุกกลุ่ม จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนคนไทย ได้รับสวัสดิการอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคจริงๆ”