จากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ปัจจุบันมีช้างป่าในธรรมชาติราว 4,013 – 4,422 ตัว ใน 16 กลุ่มป่า 91 พื้นที่อนุรักษ์ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 41 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 42 จังหวัดทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกที่ปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างรุนแรงมากที่สุด  ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2555 – ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีประชาชนเสียชีวิตจากช้างป่า 240 ราย ได้รับบาดเจ็บ 208 ราย

ความพยายามในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ามีมาโดยตลอด  ที่ผ่านมาในยุครัฐบาล คสช.  เมื่อปี 2565 มีการตั้ง คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ที่มี “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมี “รมต.ท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้น เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง วางกรอบมาตรการในการแก้ปัญหาช้างป่า 6 ด้าน คือ  1. การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า 2. แนวป้องกันช้างป่า 3. ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน 4. การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 5. การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และ 6.การควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด

ขณะที่ในสภาผู้แทนราษฎร มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน เพื่อเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาช้างป่าต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาชุดที่ผ่าน และชุดที่ 26 ซึ่งเป็นชุดปัจจุบัน  มีความเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาช้างหลายข้อใกล้เคียงสอดคล้องกับ 6 มาตรการข้างต้น

เฉลิมชัย'ลงพื้นที่เกาะติดเหตุน้ำท่วมใต้  เร่งแผนแก้น้ำท่วม-เตือนภัยดินถล่มทั่วประเทศ | เดลินิวส์

ดราม่าบังเกิดในยุคที่ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน จากพรรคประชาธิปัตย์ นั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงทรัพยากรฯ  เมื่อกรมอุทยานฯ มีจะดำเนินการตามแผนทดลองวัคซีนคุมกำเนิดช้าง ในกลุ่มป่าตะวันออก เดือน ม.ค.นี้ ทำให้สังคมเสียงแตกทั้งฝ่ายหนุนและค้าน  มีการยื่นหนังสือถึง รมว.ทรัพยากรฯ ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว

 โดยก่อนหน้านี้หนึ่งในผู้ที่ไม่เห็นด้วยคือ หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา” ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา  พี่สาว รมต.ท็อปในฐานะคนรักช้าง ที่ระบุในทำนองว่ารู้สึกตกใจกับแนวคิดการทำหมันช้างของเจ้ากระทรวง และมองว่าการแก้ปัญหาช้างป่ามีหลายแนวทางขึ้นกับบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย

ขณะที่กรมอุทยานฯ ชี้แจงว่าวัคซีนคุมกำเนิดไม่ใช่การทำหมัน แต่มีภูมิคุ้มกันที่จะคุมกำเนิดช้างได้ 7 ปี ไม่มีอันตรายต่อทั้งสุขภาพและพฤติกรรมของช้าง พร้อมจัดเวทีเปิดรับฟังความเห็นของทั้งกลุ่มหนุนและค้านเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งในเวทีนี้ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรอดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ  ระบุว่าไม่ได้ค้านการใช้วัคซีน แต่มองว่าการนำเข้าวัคซีนซึ่งมีราคาแพงมาใช้อาจไม่คุ้มค่า  และการใช้วัคซีนคุมกำเนิดไม่ถูกจุดในการป้องกันช้างออกนอกพื้นที่ป่าได้ โดยเฉพาะป่ารอยต่อ 5 จังหวัดตะวันออก ที่อาจต้องหาพื้นที่รอบๆ ที่ถูกบุกรุกคืนให้เป็นถิ่นอาศัยของช้าง และมองว่าควรยกเลิกโครงการนี้ ไปหาทางเลือกอื่น

อย่างไรก็ตามการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้างเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ป่า ซึ่งต้องดำเนินการ่วมกับมาตรการอื่นๆ ที่สังคมทุกภาคส่วนได้ตกผลึกร่วมกัน โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อไม่ให้มีความสูญเสียของทั้งคนและช้างที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเกิดขึ้นอีก.