หลัง ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุข ทำข้อตกลงเดินหน้า “โครงการวิจัยประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการบำบัดรักษายาบ้า” เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมพัฒนายาช่วยบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า (Medication Assisted Treatment) และลดอันตรายจากการเสพ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ และรพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น ร่วมทีมสนับสนุน

ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามความจำเป็น และผลที่คาดหวังจากการพัฒนาครั้งนี้ที่อาจสร้างปรากฎการณ์ใหม่กับการแก้ปัญหายาบ้ากับหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทในโครงการ โดยนพ.ชาญชัย ธงพานิช ผอ.รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น เปิดเผยว่า จะมีการศึกษาวิจัยประสิทธิผลของยา 3 ชนิด คือ ยาโพรพิออน(Bupropion) ยาเมอร์เทซาปีน(Mitazapine) และยาลอง-แอคติง เมทิลเฟนิเดต (Long-acting methylphenidate) เหตุที่ต้องเป็นยา 3 ชนิดนี้ก็เพราะค่อนข้างปลอดภัย เพราะหากตัวยาไม่มีสิ่งใดรับรองที่จะนำมาใช้กับคนได้ก็อาจไม่เป็นผลดี

เราจึงตัดสินใจเลือกใช้ยาที่ต้องมีการศึกษา ทดสอบความปลอดภัยแล้ว หมายถึงยาที่ถูกขึ้นทะเบียนรักษาโรคอื่นๆ มาแล้ว จะมีความปลอดภัยกับการใช้กับคน และต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าตัวยามีประสิทธิภาพช่วยรักษาโรคติดยาบ้า”

นพ.ชาญชัย ระบุ การเลือกยาดังกล่าวก็เพราะเคยถูกขึ้นทะเบียนรักษาโรคทางจิตเวชมาก่อนทั้ง โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น โดยผลของยาบางส่วนไปช่วยลดอาการ“อยาก” อาการถอนยาบ้า(ลงแดง) จึงไม่ขอเรียกว่ายาทดแทนยาบ้า เพราะยาทดแทนต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องจากนี้

ทั้งนี้ หากติดตามสถานการณ์ผู้ติดเฮโรอีนจะเห็นว่าทางการแพทย์มีการใช้ยาน้ำ“เมทาโดน” เป็นยาทดแทน ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบสมอง จากเดิมจะติดเฮโรอีนก็มาติดเมทาโดนแทน ส่วนเรื่องยาทดแทนยาบ้า มีความคาดหวังให้คนไข้ไม่มีอาการอยาก ไม่มีอาการทรมานจากการลงแดง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยประกอบอื่นที่จะช่วยนอกจากยา คือ ครอบครัว และชุมชนที่ดี ซึ่งจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เลิกยาเสพติดได้ ส่วนยาทดแทนยาบ้าเพียงช่วยทำให้เลิกง่ายขึ้น ไม่ทรมาน

ส่วนเกณฑ์การเลือกกลุ่มผู้ติดมาใช้ยาทดแทน ต้องยอมรับการใช้ยาย่อมมีผลข้างเคียง บางครั้งคนไข้อาจแจ้งว่าไม่ประสงค์ใช้ ยกตัวอย่าง คนติดบุหรี่บางคนแจ้งว่าเลิกเองได้ คือ “หักดิบ” แต่ส่วนนี้คือกลุ่มติดไม่รุนแรง หากสูบมาก สูบหนัก จะเลิกบุหรี่แล้วเกิดอาการลงแดง จึงจะเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ยาช่วย

เช่นเดียวกับคนไข้ที่ติดยาบ้า หากติดเล็กน้อยก็มียาอื่นๆ ที่สามารถช่วยลดอาการเหล่านั้นได้ หรือบางรายประสงค์หักดิบ หรืออาจต้องใช้ยาช่วยเล็กน้อย หรือบางรายอาจใช้ยาอื่นในการลดความอยากแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ใช้ยา 3 ชนิดดังกล่าวแทน แต่กลุ่มติดหนักอาจให้ใช้ยา 3 ชนิดนี้ไปเลย ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เป็นรายกรณี

นพ.ชาญชัย ระบุด้วยว่า ตัวยาทั้ง 3 ชนิด ทางแพทย์บางส่วนเริ่มใช้ในกลุ่มผู้ติดไปบ้างแล้ว แต่แพทย์ต้องเลือกเคสในการสั่ง เพราะยายังไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนการรักษา สิทธิการรักษาจึงยังไม่ครอบคลุม แต่หากคนไข้รายใดจำเป็นต้องใช้ยารักษาจริงๆ ทางสาธารณสุขจึงจะสั่งให้ ซึ่งที่มาของการต้องทำให้ถูกต้องตามหลักการ เพื่อให้ผู้ที่ติดสามารถใช้ยาได้มากขึ้น ไม่ต้องเลือกเคส หรือไม่ถูกจัดเป็นยานอกบัญชี

ปัจจุบันนี้เราอยู่ระหว่างวิจัยพัฒนายาที่จะขึ้นทะเบียนเป็นยารักษากลุ่มผู้ติดยาบ้า ในอนาคตหากมองไปถึงกลุ่มยาเสพติดประเภทอื่น ๆ ก็จะสามารถพัฒนายาที่จะมาลดอันตรายของอาการติดยาประเภทนั้นๆได้ด้วย”

สำหรับสะท้อนผลข้างเคียงการใช้ยาบำบัดผู้ติดยาบ้า โดยทั่วไปผลข้างเคียงยาที่ใช้รักษาโรคจิตเวชทุกตัวคือ อาการง่วงซึม อ่อนเพลีย เมื่ออยู่ในความดูแลแพทย์ต้องปรับปริมาณให้เหมาะสมกับร่างกายคนไข้แต่ละราย เพื่อมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ส่วนผลลัพธ์ที่คาดหวังการพัฒนายาทั้ง 3 ชนิด ส่วนตัวมองเป็นหนึ่งทางออกของประเทศ เพราะยาที่วิจัยจะช่วยให้ผู้ติด หรือผู้ที่เผลอไปใช้สารเสพติดประเภทยาบ้าที่ตั้งแต่เลิก แต่การเลิกยานั้นทรมาน

ร่างกายและสมองมนุษย์มีความฉลาด พอเคยใช้แล้วจะมาหยุดยา ร่างกายเกิดอาการไม่ยอม มีการกระตุ้นให้เกิดอาการลงแดง อาการถอนยา อาการอยากยา เพื่อบังคับให้ร่างกายกลับไปใช้ ทำให้กลุ่มผู้ใช้ต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรยาเสพติด”

นพ.ชาญชัย ทิ้งท้ายการดูแลผู้ป่วยที่ใช้ยาเสพติด รพ.อาจไม่ใช่คำตอบเดียว แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา สิ่งสำคัญที่สุดคือ ครอบครัว ชุมชน ต้องช่วยกันเฝ้าระวังและติดตาม เพื่อหยุดการเสพถาวร.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน