นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในรอบปีการประมง 2567 คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ได้มีการจัดสรรวันทำการประมงให้กับกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูง 7 ชนิดเครื่องมือ ได้แก่ 1.อวนลากคู่ 2.อวนลากแผ่นตะเฆ่ 3.อวนลากคานถ่าง 4.อวนล้อมจับ 5.อวนล้อมจับปลากะตัก 6.อวนครอบปลากะตัก และ 7.อวนช้อน/ยกปลากะตัก จำนวน 4,273 ลำ (จากเรือประมงพาณิชย์ที่กรมประมงได้ออกใบอนุญาตให้ทำการประมง จำนวนทั้งสิ้น 8,954 ลำ) โดยฝั่งอ่าวไทยมีการควบคุมวันทำการประมงเรือประมงที่จับกลุ่มสัตว์น้ำหน้าดิน (อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ และอวนลากคานถ่าง) 245 วัน กลุ่มปลาผิวน้ำ (อวนล้อมจับ) 255 วัน และกลุ่มปลากะตัก (อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก และ อวนช้อน/ยกปลากะตัก) 270 วัน ส่วนในฝั่งทะเลอันดามันมีการควบคุมวันทำการประมงกลุ่มสัตว์น้ำหน้าดิน 275 วัน กลุ่มปลาผิวน้ำ 265 วัน และกลุ่มปลากะตัก 250 วัน

ทั้งนี้ กรมประมงได้ตรวจสอบปริมาณสัตว์น้ำที่มีการนำขึ้นมาใช้ประโยชน์โดยเรือประมงพาณิชย์ โดยการตรวจสอบการแจ้งเข้าออกของเรือประมงพาณิชย์ และจากข้อมูลระบบติดตามเรือประมงในปีการประมง 2567 ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ปรากฏว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปีการประมง 2567 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2568 มีเรือประมงจำนวน 2,822 ลำ ที่เหลือวันทำการประมงมากกว่า 108 วัน คิดเป็นปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือ 191,663 ตัน โดยสามารถนำปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือดังกล่าว มาจัดสรรให้กับเรือประมงที่วันทำการประมงใกล้หมดลง ให้สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี จำนวน 1,451 ลำ ซึ่งต้องใช้ปริมาณสัตว์น้ำ 24,649 ตัน ดังนั้น เพื่อเป็นการนำปริมาณสัตว์น้ำที่ได้จัดสรรแล้วมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงานในภาคการประมง พร้อมช่วยส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวประมง จากการจัดสรรวันทำประมงเพิ่มมากกว่า 1,200 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานในเรือประมงต่อเนื่องมากกว่า 18,000 คน 

โดยกรมประมงจะทำการออกประกาศกรมประมง จัดสรรวันทำการประมงเพิ่มให้กับผู้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2567 และนำข้อมูลเข้าระบบ E- License ให้ชาวประมงสามารถทำการประมง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป