เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 ม.ค. 68 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.)

ทั้งนี้ นายพริษฐ์ ได้เสนอสาระสำคัญของสาระร่างข้อบังคับที่เสนอต่อรัฐสภา คือ การแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ตอนหนึ่งว่า มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมต่อกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) โดยเสนอปลดล็อกและเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง หรือ สว. สามารถเสนอชื่อบุคคลทั่วไปเข้าร่วมเป็น กมธ. เหตุผลสำคัญเพื่อให้กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมีความรอบคอบรอบด้านมากขึ้น รวมถึงให้บุคคล ภาคประชาสังคมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์กับการแก้รัฐธรรมนูญที่มากกว่าสมาชิกรัฐสภา แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาเข้ามามีส่วนร่วม 2.ลดการใช้กระดาษเพิ่มใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์สำหรับงานธุรการของรัฐสภา และ 3.ยกเลิกบทบัญญัติข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ไม่มีความจำเป็นเกี่ยวกับหมวดการปฏิรูปประเทศ และหมวดที่เกี่ยวการเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภานั้น พบว่าในการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึง สส.พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขในประเด็นการกำหนดให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมเป็น กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงติดใจในประเด็นที่ตัดลักษณะของการพ้นตำแหน่ง กมธ. ว่าด้วยการขาดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกออกไป

โดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. อภิปรายว่า การแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ดูเหมือนเป็นการปูทางไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตนติดใจในประเด็นการแก้ไขคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) โดยร่างแก้ไขนั้นได้ตัดเกณฑ์ที่ กมธ. จะพ้นจากตำแหน่งใน (4) ว่าด้วยการขาดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกออก เท่ากับว่าจะให้คนที่ต้องคดีเข้ามาเป็น กมธ. อย่างไรก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ควรให้สมาชิกรัฐสภาดำรงตำแหน่ง สมาชิกรัฐสภาที่มีรวม 700 คน คือ สส. 500 คน สว. 200 คน ส่วน กมธ. ที่จะตั้งมีจำนวน 45 คน ดังนั้นเมื่อ กมธ. พ้นตำแหน่งเพราะขาดจากสมาชิกภาพ พรรคการเมืองควรตั้งบุคคลตามสัดส่วนของพรรคมาทดแทน ไม่เป็นปัญหา แต่หากยังให้คนที่ขาดสมาชิกภาพเป็น กมธ. ได้ ถือว่าดูแคลนกันไปหน่อย

“ในพรรคการเมืองมีผู้มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมากในรัฐสภา แต่การเสนอแบบนี้คงหลับตาดูแล้วเห็นว่าใครขาดสมาชิกภาพในอนาคตหรือไม่ ขอให้ทบทวน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญนั้น มีความสำคัญ หากตัดส่วนคุณสมบัติที่ขาดคุณสมาชิกภาพออกไป จะเห็นใครมาทำหน้าที่ อ้าปากเห็นไปถึงริดสีดวงทวาร” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยในการแก้ไขข้อบังคับข้อ 123 ที่กำหนดให้ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญมาจากรายชื่อที่สมาชิกรัฐสภาเสนอ เท่ากับเปิดทางให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเข้ามาทำหน้าที่ และการกำหนดสัดส่วนให้ประชาชนผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าเป็น กมธ. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ กมธ. ที่กำหนดให้มี 45 คน ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่กำหนดว่า สส. สว. หรือสมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย

“การเสนอแก้ไขแบบนี้ เท่ากับว่าจะตั้งใครก็ได้ใน 45 คน ไม่ต้องมีสมาชิกรัฐสภาแม้แต่คนเดียวก็ได้ ผมมองว่าไม่เป็นเหตุที่สมควร เพราะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจหน้าที่และสิทธิแก่สมาชิกรัฐสภา อีกทั้งการเสนอให้มีตัวแทนประชาชนที่เสนอแก้รัฐธรรรมนูญนั้น ผมติดใจในกระบวนการคัดเลือกที่ต้องโปร่งใส ยุติธรรม ไม่ใช่ถูกเลือกเข้ามาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ว่าการเสนอ กมธ. จากประชาชนเป็นเจตนาดี เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม แต่การปฏิบัติและโครงสร้างตั้ง กมธ. อาจไม่สมดุล อาจลดทอนอำนาจการถ่วงดุลของ สส. และ สว. กลับเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายที่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ไม่มีร่างแก้ไขของประชาชนเข้ามาก็ตาม จะทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญถูกชี้นำโดยเสียงข้างมาก” นายพิสิษฐ์ กล่าว

ขณะที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า มติของพรรครวมไทยสร้างชาติ มีมติไม่รับหลักการของร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่เสนอ เนื่องจากมีประเด็นการกำหนดให้บุคคลภายนอกที่ไม่เป็นสมาชิกรัฐสภาร่วมเป็น กมธ.แก้รัฐธรรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ เป็นกฎหมายสูงสุดควรให้สิทธิแก่สมาชิกรัฐสภา

ส่วนนายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ในประเด็นกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญมี 2 ประเด็นที่เสนอให้แก้ไข คือ การกำหนดการพ้นตำแหน่งของ กมธ. ที่ตัดการขาดจากสมาชิกภาพออกไป อย่างไรก็ดี การขาดจากสมาชิกภาพไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความผิดทุจริต ผิดจริยธรรม หรือต้องโทษที่ร้ายแรง จึงไม่สมควรทำหน้าที่ต่อฐานะตัวแทนประชาชน นอกจากนั้นแล้ว ในการตั้ง กมธ. ที่กำหนดสิทธิให้ผู้แทนประชาชนที่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็น กมธ. จำนวน 1 ใน 3 คือ ตัวแทนที่เตรียมไว้ เตรียมตัวให้เข้ามาเป็น กมธ. 15 คน ซึ่งเท่ากับ สว. หรืออาจจะมากกว่า หากเอาตัวแทนผู้เสนอร่างกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่โดยไม่ไว้วางใจฝีมือสมาชิกรัฐสภาแก้กฎหมาย เท่ากับว่าระบบรัฐสภาล้มเหลว

“หากไม่เชื่อว่าสองสภาทำได้ กลับเอาตัวแทนคนกลุ่มหนึ่งที่สถาปนาตัวเองเป็นผู้แทน คนที่เป็นตัวแทนตั้งตัวเป็นตัวแทนเพื่อเอาสัดส่วนนี้ ผมคิดว่าการเปิดช่องแบบนี้ไม่เห็นด้วย ในหลักการที่เสนอแก้ไขมานั้น ผมไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ ทางที่ดีควรไปยกร่างแยกเนื้อหามา แต่หากติดประเด็นนี้ ผมไม่เห็นด้วย” นายวิทยา กล่าว.