สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ว่า “ทะเลอารัล” ตังอยู่ระหว่างอุซเบกิสถานกับคาซัคสถาน เคยเป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีความลึก 40 เมตร และครอบคลุมพื้นที่ 68,000 ตารางกิโลเมตร ก่อนที่โครงการชลประทานของสหภาพโซเวียตจะทำให้น้ำแห้งเหือด จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

กระทรวงทรัพยากรน้ำของคาซัคสถานกล่าวในรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2551 ปริมาณน้ำในทะเลอารัลเพิ่มขึ้น 42% และอยู่ที่ 27,000 ล้านลบ.ม. หลังโครงการซึ่งได้รับเงินทุนจากรัฐบาลและธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออก

เมื่อปี 2567 เพียงปีเดียว ทางการได้ส่งน้ำจากแม่น้ำซีร์ดาร์ยาไปยังภาคเหนือ 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วยลดความเค็มของน้ำได้เกือบ 4 เท่า และส่งเสริมการดำรงชีวิตในน้ำ

ความพยายามในการอนุรักษ์ทะเลอารัล ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างประเทศอดีตสหภาพโซเวียตทั้งห้าแห่ง ซึ่งล้วนตั้งอยู่ในเอเชียกลาง ซึ่งกำหนดโควตาการใช้น้ำประจำปี สำหรับแม่น้ำอามูดาร์ยาและซีร์ดาร์ยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสองสายที่ส่งน้ำไปยังแม่น้ำอารัล

หลังสหภาพโซเวียตเบี่ยงน้ำไปใช้ในการเกษตรจนน้ำลดลงถึง 90% ระหว่างปี 2503-2553 ความแห้งแล้งทำให้สัตว์หลายสายพันธุ์สูญพันธุ์ และยุติกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่เกลือและฝุ่นพิษหลายสิบล้านตันจากพื้นทะเลสาบ ถูกลมพัดพาไปทั่วเอเชียกลาง ก่อให้เกิดโรคมะเร็งและทางเดินหายใจกับประชาชน.

เครดิตภาพ : AFP