สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ว่า หลังเคยประกาศความสนใจ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของกรีนแลนด์ ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรก เมื่อปี 2562 และรัฐบาลเดนมาร์กตอกกลับอย่างไร้เยื่อใย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยที่สอง ในวันที่ 20 ม.ค. ที่จะถึง กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า “กรีนแลนด์เป็นสถานที่เหลื่อเชื่อ หากดินแดนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์มหาศาล”


กรีนแลนด์ มีประชากรราว 57,000 คน เป็นเขตปกครองตนเองของเดนมาร์ก เป็นสถานที่ตั้งถาวรของฐานทัพอากาศสหรัฐ ซึ่งมีการติดตั้งระบบเตือนภัยขีปนาวุธนำวิถี และเป็นเส้นทางสัญจรสั้นที่สุด ระหว่างยุโรปกับอเมริกาเหนือ

Global News


ในทางภูมิศาสตร์ กรีนแลนด์ถือว่าอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ การเดินทางจากเมืองนุก ซึ่งเป็นเมืองเอกของกรีนแลนด์ ไปยังนครนิวยอร์กของสหรัฐ ใกล้และใช้เวลาน้อยกว่าการเดินทางจากเมืองนุกไปยังกรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก


ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) เผยแพร่รายงาน เมื่อปี 2566 ว่าแร่ธาตุอย่างน้อย 25 จาก 34 ประเภท ที่มีการค้นพบในกรีนแลนด์ ถือเป็น “วัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญ” สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และการผลิตกังหันลม ในด้านพลังงานสะอาด


อย่างไรก็ตาม กรีนแลนด์มีกฎหมายห้ามการขุดเจาะน้ำมัน แร่ธาตุ และก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นการประนีประนอมกับกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่เดิม คือ ชาวอินูอิต หรือ ชาวอินุก ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจของกรีนแลนด์จึงพึ่งพาการประมงเป็นสำคัญ


กรีนแลนด์ถือเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์กมานานกว่า 600 ปี และมีการระบุอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก เมื่อปี 2496 หมายความว่า การเปลี่ยนสถานะของกรีนแลนด์ คือการที่เดนมาร์กต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน


แม้กรีนแลนด์เคลื่อนไหวเพื่อเป็นเอกราชจากเดนมาร์ก อย่างจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ปี 2552 แต่จนถึงตอนนี้ กรีนแลนด์ยังคงต้องรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในกรุงโคเปนเฮเกน และทั้งสองฝ่ายประสานเสียงกันต่อต้าน การแสดงความต้องการครอบครองของทรัมป์มาตลอด


กระนั้น สถานการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่สหรัฐอยากเป็นเจ้าของกรีนแลนด์ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2489 ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น เสนอซื้อกรีนแลนด์ด้วยทองคำมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,470.35 ล้านบาท) ซึ่งจะเทียบเท่ากับราว 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน (ราว 55,525.59 ล้านบาท) แต่รัฐบาลเดนมาร์กปฏิเสธ.

เครดิตภาพ : AFP