เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 8 ม.ค. 68 นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธาน สส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้วตามระบบสารบัญ เพื่อให้พิจารณาบรรจุไว้ในวาระการประชุมร่วมรัฐสภาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ระบุเหตุผลตอนหนึ่งว่า เป็นการแก้ไขบางหมวด บางเรื่องที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด ทำให้ไม่อาจแก้ไขได้ ขัดต่อหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ดี ที่ต้องให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นพลวัต ไม่ใช่หยุดนิ่ง ต้องให้แก้ไขได้ เมื่อยามประเทศต้องการให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมให้ทันต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงภายในประเทศหรือสถานการณ์โลก อีกทั้งรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นภายใต้สถานการณ์พิเศษ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และมีบทบัญญัติไม่สอดคล้องประชาธิปไตย

ส่วนรายละเอียดการแก้ไขมาตรา 256 นั้น มีสาระสำคัญคือ ตัดหลักเกณฑ์ที่ต้องใช้เสียง สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และเสียงของ สส.ฝ่ายค้าน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ออกจากกระบวนการเห็นพ้องชั้นการลงมติวาระแรกและวาระสามจากเดิมที่กำหนดไว้ และตัดเงื่อนไขการนำไปออกเสียงประชามติก่อนการทูลเกล้าฯ ถวายในมาตรา 256(8) ในกรณีที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ แต่ยังคงการให้ทำประชามติใน 3 กรณี คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกันมีการเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน กำหนดข้อห้ามบุคคลที่จะสมัครเป็น ส.ส.ร. คือ เป็นข้าราชการการเมือง เป็น สส. สว. รัฐมนตรี และมีลักษณะต้องห้ามตามเดียวกับการสมัคร สส. โดยกำหนดให้ ส.ส.ร. ตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ​ 47 คน ที่มาจากการแต่งตั้งจาก ส.ส.ร. 24 คน มีคุณสมบัติคือ เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และอีก 23 คน ให้ ส.ส.ร. แต่งตั้งจากการเสนอชื่อโดยสภา 12 คน สว. 5 คน และ ครม. 6 คน กำหนดระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นส่งให้รัฐสภาเห็นชอบภายใน 30 วัน เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้ว ให้นำไปออกเสียงประชามติ นอกจากนี้ยังให้สิทธิรัฐสภามีอำนาจเสนอความเห็น เพื่อแก้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ ส.ส.ร. ดำเนินการได้ด้วย ซึ่งกำหนดเป็นบทบังคับให้ ส.ส.ร. แก้ไขภายใน 30 วัน พร้อมกับให้ลงมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ ส.ส.ร. ที่มี จากนั้นจึงส่งให้ กกต. ทำประชามติ หาก ส.ส.ร. ลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และให้อำนาจ ส.ส.ร. ชุดเดิม ยกร่างใหม่ภายใน 90 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย กำหนดเป็นข้อห้ามที่ชัดเจนว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้” พร้อมให้อำนาจรัฐสภาวินิจฉัยว่าหากมีการจัดทำเนื้อหาที่เป็นข้อห้ามดังกล่าว ให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้ ส.ส.ร. ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย โดยให้ สส. และ สว. เสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีก และกำหนดข้อห้าม ส.ส.ร. ชุดเดิม กลับมาเป็น ส.ส.ร. อีก.