หลังจากที่ประเทศไทยได้สร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษ ด้วยการประกาศ ‘ห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ’ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนที่ผ่านมา การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องมาหลายปี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการควบคุมการนำเข้าขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรับซื้อขยะพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้า ประเทศไทยจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักในการส่งออกขยะพลาสติกจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกขยะพลาสติกมายังไทยรายใหญ่ที่สุด โดยมีปริมาณการส่งออกสูงถึง 50 ล้านกิโลกรัมในปี 2566 เพียงปีเดียว ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างรุนแรง

เจ้าหน้าที่ศุลกากรไทย เปิดเผยว่า ในระหว่างปี 2561-2564 มีการนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศไทยมากกว่า 1.1 ล้านตัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ และเป็นการส่งสัญญาณไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกอย่างจริงจัง

แม้การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และความร่วมมือในระดับนานาชาติในการจัดทำสนธิสัญญาควบคุมขยะพลาสติกทั่วโลก หากไม่มีการดำเนินการในระดับสากล ปัญหาขยะพลาสติกก็จะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมต่อไป

‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ ผู้อำนวยการองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประกาศห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทุกประเภทในประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญและเป็นชัยชนะเบื้องต้นของภาคประชาสังคมที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน การตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักถึงความจำเป็นในการปกป้องประเทศจากการกลายเป็นบ่อทิ้งขยะของโลก และแม้กฎหมายจะมีการบังคับใช้แล้ว ทว่าการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวก็ถือว่ายังไม่ใช่ที่สิ้นสุด โดยเพ็ญโฉม ย้ำว่า จะต้องให้ความสำคัญกับการติดตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก และปัญหาอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นกับการห้ามนำเข้าสินค้าประเภทพลาสติก

ขณะที่ ‘ปุญญธร จึงสมาน’ นักวิจัยรณรงค์ด้านพลาสติกจากมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความเห็นต่อกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของไทยที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ ว่า ถึงแม้จะเป็นก้าวสำคัญ แต่ยังคงมีความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าและการขนส่งขยะพลาสติกข้ามชาติ โดยเฉพาะการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

“รัฐบาลไทยต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และศุลกากร เพื่อปิดช่องโหว่ทางกฎหมายและป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกไหลเข้าสู่ประเทศ” ปุญญธร กล่าว

การออกมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของไทยเกิดขึ้นในขณะที่นานาชาติกำลังเร่งหาทางออกร่วมกันในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลก โดยเมื่อปีที่แล้ว การเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาขยะพลาสติกระดับโลกที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายได้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันและประเทศที่ต้องการลดการผลิตพลาสติก

แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันในการลดการผลิตพลาสติกทั่วโลก แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ เช่น ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และรัสเซีย ได้คัดค้านข้อเสนอดังกล่าว ทำให้การเจรจาต้องยุติลงโดยไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศในการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก และเป็นแรงผลักดันให้ประเทศอื่นๆ เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

ในฝั่งยุโรป ‘ศาสตราจารย์สตีฟ เฟล็ตเชอร์’ ผู้อำนวยการสถาบัน Revolution Plastics Institute มหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ ประเทศอังกฤษ ได้ออกโรงเตือนถึงภัยร้ายจากมลภาวะพลาสติก โดยระบุว่า ความล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาระดับโลกเพื่อยุติมลภาวะจากพลาสติก ถือเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

“มลภาวะจากพลาสติกไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เป็นวิกฤตด้านสุขภาพมนุษย์ที่เร่งด่วนที่สุดในยุคนี้ เนื่องจากการจัดการขยะพลาสติกด้วยการเผานั้นสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง” ศ.เฟล็ตเชอร์กล่าวในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์จากอังกฤษโดยชี้ว่า ความขัดแย้งเรื่องการลดการผลิตพลาสติกยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเจรจาสนธิสัญญาระดับโลก

ไม่เพียงเท่านี้ งานวิจัยชิ้นอื่นๆ ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่น่ากังวลจากไมโครพลาสติก ที่นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวาย และอัตราการเสียชีวิตแล้ว ยังมีหลักฐานบางส่วนที่ชี้ว่าไมโครพลาสติกอาจเกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย

‘ดร.เครสซิดา โบเวียร์’ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับอันตรายจากการเผาขยะพลาสติกในที่โล่ง กล่าวว่า ขยะเทศบาลทั่วโลกราว 16% ถูกเผาในที่โล่ง และสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 40-65% ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ส่งผลให้ประชากรกลุ่มเปราะบางต้องเผชิญกับควันพิษจากการเผาพลาสติกซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างเงียบๆ

“นี่เป็นวิกฤตที่ไม่ควรมองข้าม เราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องสุขภาพของคนทั่วโลก” ดร.โบเวียร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันประชุมเพิ่มเติมเพื่อหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาระดับโลกในการยุติมลภาวะจากพลาสติก ซึ่งยิ่งทำให้วิกฤตข้างต้นยังต้องการการตอบสนองจากทุกภาคส่วนโดยเร็วที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก: The Guardian