นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปี 67 เทียบกับปี 66 สูงขึ้น 0.40% ต่ำสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 63 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.85% โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปผลไม้สด และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ก็มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล 

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน ธ.ค. 67 เท่ากับ 108.28 เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 66 ซึ่งค่าดัชนีเท่ากับ 106.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.23% จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ เพราะราคาในปี 66 ต่ำกว่า รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก 

ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 67 ลดลง 0.18% ตามการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.51% และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 0.07% ตามการสูงขึ้นของราคาแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน ค่าเช่าบ้านและของใช้ส่วนบุคคล ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ) เดือน ธ.ค. 67 สูงขึ้น 0.79% เทียบเดือน ธ.ค. 66 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือน พ.ย. 67 ที่สูงขึ้น 0.80% และเฉลี่ยทั้งปี 67 สูงขึ้น 0.56%  

นายพูนพงษ์ กล่าวต่อถึงแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปปี 68 ว่า ยังคงคาดการณ์ขยายตัว 0.3-1.3% มีค่ากลาง 0.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ เศรษฐกิจไทยปี 68 มีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 67 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น, ราคาน้ำมันดีเซลที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 67, ความเสี่ยงจากสงครมการค้า และขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น และกระทบราคาสินค้าในไทย รวมถึงการเปลี่ยนนโยบายของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน ที่อาจทำให้ราคาของไทยสูงขึ้นตาม