เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 อ.แม่สาย จ.เชียงราย พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี ตร. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พล.ต.ท.วีรชน บุญทวี ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รอง ผบช.ทท. พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ธนรัชต์ ชุ่มสวัสดิ์ รอง ผบช.ประจำ สง.ตร. รรท รอง ผบช.ภ.5 นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยไปรอรับการปล่อยตัวคนไทย จากทางการเมียนมาจำนวน 151 คน เป็นชาย 74 คน และหญิง 77 คน เนื่องในวันปลดปล่อยเอกราช หรือวันชาติเมียนมา 4 ม.ค. ของทุกปี หลังจากทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่เมียนมาจับกุมใน จ.ท่าขี้เหล็ก ช่วงต้นปี 2567 เพราะมีการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และบ่อนออนไลน์อย่างหนัก จึงมีคนไทยที่ทำงานอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ถูกจับจำนวน 154 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาหลบหนีเข้าเมืองและบ่อนการพนันผิดกฎหมาย จึงส่งตัวทั้งหมดไปยังสถานีตำรวจท่าขี้เหล็ก และศาลเมียนมาได้ตัดสินให้ต้องจำคุกทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ 1 ปี แต่มีเยาวชน 2 คน ถูกส่งกลับก่อนหน้านี้แล้ว และมีคนเสียชีวิต 1 คน จึงเหลือ 151 คนดังกล่าว
ทั้งนี้ ฝ่ายไทยนำโดย พล.ต.อ.ธัชชัย นำหน่วยงานต่างๆ คือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จ.เชียงราย ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จ.เชียงราย ทีมสหวิชาชีพ เตรียมรับตัวเพื่อคัดกรองตามกลไก NRM ว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ โดยมีการเปิดศูนย์บูรณาการคัดแยกเอาไว้ที่ ร้อยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย ที่ 1, มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ และที่มูลนิธิ Destiny Rescue ใช้เวลาคัดแยกไม่เกิน 15 วัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าคณะคนไทยจะเดินทางถึง จ.ท่าขี้เหล็ก ในช่วงค่ำ ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยยังคงเฝ้ารอการรับตัวต่อไป

พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสคุยกับ ผบ.ตร.ประเทศเมียนมา ขณะเดินทางไปประชุมที่กรุงเนปิดอว์ โดยได้ขอให้ช่วยเหลือคนไทยทั้ง 151 คน กลับประเทศไทย ทั้งๆ ที่ทั้งหมดต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี แต่ได้รับการลดโทษเหลือเวลา 10 เดือน และได้รับการปล่อยตัวออกมาดังกล่าว จึงต้องขอบคุณทางการเมียนมาด้วย
สำหรับกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงมีปัญหา และมีข้อจำกัดในการเข้าไปจัดการ เพราะหลายจุดเป็นเขตของชนกลุ่มน้อย จึงสั่งการให้ ตม. นำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ว่ามีบุคคลเข้าออกบ่อยผิดสังเกตหรือไม่ หรือใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน

พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าเดิมคนกลุ่มนี้มี 154 คน มีเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัว 1 คน และกลับมาก่อนหน้านี้แล้ว 2 คน จึงเหลือ 151 คน โดยกลุ่มคนที่จะกลับมามีอยู่ 4 คน ที่ออกเมืองผิดกฎหมาย ที่เหลือส่วนใหญ่ใช้บอร์เดอร์พาส เข้าไปในประเทศเมียนมา กระนั้นทั้งหมดจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนแรกคือการคัดกรอง จากน้้นตำรวจจะสืบสวนขยายผล หาหลักฐาน สอบปากคำ ตรวจข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะคนที่เข้าออกเมืองมากผิดปกติ โดยไม่ได้จำกัดแค่ชายแดนเมียนมา แต่ทางชายแดนกัมพูชาด้วย กระนั้นเชื่อว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์
“คนไทยกลุ่มนี้ถูกจับประมาณเดือน ก.พ. 2567 ข้อหาที่ทางการเมียนมาดำเนินคดีคือการพนันออนไลน์และหลบหนีเข้าเมือง แต่ในส่วนของเราคือเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงจะตรวจสอบต่อไป” พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวและว่า ถ้าคัดกรองแล้วเป็นการค้ามนุษย์ ก็จะให้การช่วยเหลือตามขั้นตอน แต่หากใครที่คัดกรองแล้วเป็นกระทำความผิดใดๆ ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย