นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรม เรื่อง การตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (สำหรับเจ้าหน้าที่) ว่า กรมประมงร่วมกับศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN-JICA จัดโครงการอบรม “การตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” ภายใต้โครงการ “ASEAN-JICA Capacity Building Project on IUU Fishing Countermeasures in Southeast Asia” ระหว่างปี พ.ศ. 2567-2570 ให้แก่เจ้าหน้าที่กรมประมง ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำทั้งที่มาจากการจับและจากการเพาะเลี้ยงทั้งในและนอกประเทศ ให้ครอบคลุมทุกกระบวนการที่เชื่อมโยงกัน ตลอดจนกระบวนการส่งออก เพื่อให้สอดคล้องและตรงกับข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าทั่วโลก

มูลค่าการส่งออกของสินค้าประมงไทย (กุ้ง หมึก ปลา ผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋อง) ในปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม มีมูลค่าสูงถึงกว่า 109,522 ล้านบาท ซึ่งยังคงมีแนวโน้มที่ดี  เมื่อเทียบกับการส่งออกเมื่อปี พ.ศ. 2566 บ่งชี้ให้เห็นว่าคุณภาพสินค้าประมงของประเทศไทยนั้น ยังคงเป็นที่ต้องการ และได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยเฉพาะจุดแข็งของสินค้าสัตว์น้ำไทยที่สามารถตรวจสอบได้ตลอดสายการผลิต กรมประมงภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการรักษาระดับมาตรฐาน งานด้านการตรวจสอบย้อนกลับจึงได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ให้แก่  เจ้าหน้าที่กรมประมง และผู้ประกอบการ โดย หลักสูตรการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ

สำหรับการฝึกอบรม หลักสูตรการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (สำหรับผู้ประกอบการ) จะจัดขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมกุลาดำ อาคารจุฬาภรณ์ ชั้น 7 กรมประมง และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Cloud Meetings) มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมแล้วกว่า 400 ราย โดยหัวข้อการบรรยายประกอบไปด้วย ระบบการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยง ระบบการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่มาจากการจับ  (ทั้งในและต่างประเทศ) มาตรฐานคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ประมงส่งออก ข้อกำหนดการออกใบรับรองสัตว์น้ำและสินค้าประมงส่งออก นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ  ที่พบระหว่างกระบวนการ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป