วันที่ 4 ธ.ค. กรณีนางสาวอารีย์ยา  อายุ 23 ปี  ชาวบุรีรัมย์  ร้องเรียนผ่านสื่อว่าลูกสาวที่เพิ่งคลอดได้เพียง 10 วันแต่มีอาการรุนแรง ถึงขั้นไหปลาร้าหัก และติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งที่ลูกอยู่ที่โรงพยาบาลมาตั้งแต่แรกเกิด

ซึ่งนางสาวอารีย์ยา เล่าเหตุการณ์ว่า ตัวเองคลอดลูกเมื่อวันที่ 23 พ.ย. แต่ลูกตัวเหลืองหมอให้อบตัว ผ่านไป 9 วันคือวันที่ 2 ธ.ค. หมอแจ้งว่าลูกสาว “ไหปลาร้าขวาหัก” และต่อมายังแจ้งอีกว่า ลูกสาวที่คลอดมาได้เพียง 10 วัน ติดเชื้อในกระแสเลือด ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด คณะแพทย์โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ ได้เชิญตัวแม่เด็กและญาติมาที่โรงพยาบาลฯ เพื่อชี้แจงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใช้เวลาในการเจรจากันภายในห้องประมาณ 2 ชม.

นางเพชร  อายุ 49 ปี  แม่สามี กล่าวว่า หลังเจรจาเสร็จรู้สึกดีเพราะแพทย์โรงพยาบาลจะดูแลทั้งแม่และตัวเด็กให้ดีที่สุด ขอบคุณคณะแพทย์ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับครอบครัวไม่มีอะไรติดใจกับหมอแล้ว

นายแพทย์ไกรวุฒิ สุขสนิท รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ คนที่ 1 กล่าวว่า ยอมรับว่าเพิ่งมารู้ว่ากระดูกไหปลาร้าหักในภายหลังคลอดนานถึง 7  วัน ได้ทำการชี้แจงกับญาติแล้วว่าเกิดจากการวินิจฉัยในครั้งแรก เพราะมัวมองอาการของปอดที่เด็กหายใจเร็วมากกว่า สำหรับอาการไหปลาร้าหักจะไม่น่าเป็นห่วงในการรักษาระยะยาว เพราะโดยธรรมชาติกรณีนี้ไม่ไปกดทับเส้นประสาท

ทั้งนี้ยังจะต้องรอการประเมินการเยียวยาให้กับทางญาติอีกครั้ง สิ่งที่น่าห่วงคือการติดเชื้อในกระแสเลือด ยอมรับว่าอยู่ในระยะวิกฤติตอนนี้หมอดูแลอย่างใกล้ชิด

ด้านนายแพทย์อนันต์ มุ่งเจริญสันติกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม) กล่าวว่า สาเหตุที่วินิจฉัยล่าช้าเพราะเรามุ่งไปที่อาการทางปอดของเด็กมากกว่า เพราะเด็กคลอดออกมามีปัญหาเรื่องหายใจเร็ว

นายแพทย์อนันต์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ล่าช้าเพราะเด็กไม่มีอาการผิดปกติ ไม่มีอาการบวมแดงหรือผิดรูปแต่อย่างใด เมื่อไปตรวจสอบแล้วพบว่าไหปลาร้าเด็กหักตั้งแต่แรกคลอด ยอมรับว่าทีมผู้รักษาไม่ได้วินิจฉัยตั้งแต่ตอนนั้น ทั้งหมดได้ชี้แจงให้กับญาติไปแล้ว ส่วนอาการของไหปลาร้าหัก ตามที่ญาติกังวล ขอยืนยันว่าทั้งสองอาการไม่เกี่ยวกัน แต่ตอนนี้มาพุ่งเป้าอาการติดเชื้อในกระแสเลือดก่อนเพราะอาการค่อนข้างน่าเป็นห่วง