เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 เมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติรับรองกรอบทิศทางนโยบาย “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” New Wealth for Health คือ เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน อนาคตทั้งระดับมหภาคและฐานรากที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ภูมิปัญญา และการมีส่วนร่วมของคนทุกวัย รวมถึงสังคมและระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมให้มั่นคง ยั่งยืน และมีมติรับรอง 2 วาระสุขภาพแห่งชาติ สร้างสมดุล 5 มิติ ว่า ความท้าทายด้านเศรษฐกิจกับสุขภาพสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ จึงต้องมองให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวม ตามหลักแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) แนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policies) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่นานาประเทศมุ่งขับเคลื่อนให้บรรลุภายในปี 2573

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน กล่าวว่า กรอบทิศทางนโยบาย คือ ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการสร้างสมดุลใน 5 มิติเศรษฐกิจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม, วัฒนธรรม และสุขภาวะ บูรณาการสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนยั่งยืนนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและประชาชน เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว โดยหลักคือ 1. พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพและยั่งยืน 2. ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บริการ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของนักท่องเที่ยว ประชาชนในชุมชน เป็นมิตรไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3. พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความตระหนักรู้วัฒนธรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ สำหรับผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และนักท่องเที่ยว 4. กำหนดมาตรการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน 5. สนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านอุปสงค์ อุปทาน การประเมินผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวแนวใหม่

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17-18 พ.ศ. 2567-2568 กล่าวว่า การผลิต พัฒนาศักยภาพ และจัดการกำลังคนทุกวัย ทั้งกำลังคนวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ ให้มีเจตคติและพฤติกรรมที่หนุนเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ปรากฏ ตามแนวคิดของปรัชญาการพัฒนาคนโดยการระเบิดจากข้างใน คือมีศักยภาพที่เพียงพอและเหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านบริการสุขภาพยุคดิจิทัล โดยมีระบบการทำงานและการจ้างงานที่เป็นธรรม มั่นคง มีคุณค่า และได้รับการดูแลให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คำว่าสุขภาพในความหมายใหม่ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 สุขภาพที่ดีต้องมีครบทุกมิติทั้ง กาย ใจ  สังคม ปัญญา มองสุขภาพในมิติที่กว้างไม่ใช่แค่เรื่องเจ็บป่วย และต้องเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเศรษฐกิจและสังคม โดยทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และผลักดันไปให้ถึงประชาชนเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด

นางไซมา วาเซด ผอ.องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก กล่าวว่า สุขภาพ คือความมั่งคั่งที่แท้จริงของทุกประเทศ ซึ่งถือเป็นหลักขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การอนามัยโลก และเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ทุกคนมารวมตัวกันรับรองหลักการมีส่วนร่วมของสังคม นำทุกเสียงสะท้อนส่งถึงผู้กำหนดนโยบาย เพื่อแปรเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนได้ ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 17 ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนามติเหล่านี้ แล้วยังเปิดพื้นที่ชุมชนแลกเปลี่ยนสื่อสารด้านนโยบายสู่สุขภาวะในธีม ตลาดนัดนโยบาย ที่นำมาพัฒนาแล้วนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จในหลายพื้นที่ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สร้างสังคมสุขภาวะให้เต็มพื้นที่ต่อไป รวมถึงเปิดโอกาสให้เครือข่ายประชาชนเสนอประเด็นนโยบายที่จะพัฒนาเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 18 ต่อไป.