เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 67 ที่ โรงแรมแบงค็อก แมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก พลิกตำราฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2568” World Economic Pulse to Turnaround Thailand Economic Crise 2025 โดยมี นายกัมพล สุภาแพ่ง สว. ประธาน กมธ. กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายแต่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและต้นทุนการผลิตของธุรกิจ ซึ่งอาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน หรือสงครามในยูเครน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นและสร้างความผันผวนในตลาดโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศไทย ต้องมีการปรับตัวและการวางแผนเศรษฐกิจที่ต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่หลากหลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ภายในงานมีการสัมมนามี Special Talk : จับชีพจรเศรษฐกิจโลก 2568 Scanning the Geo-Politic Challenges โดยนายสุรพงษ์ ชัยนาม นักการทูตและนักวิชาการ การเสวนา Discussion Panel : “4 Generation พลิกตำราฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2568” อาทิ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เกียรตินาคินภัทร เป็นต้น

ภายหลังการสัมมนา นายกัมพล ประธาน กมธ.เศรษฐกิจฯ ได้แถลงข้อเสนอแนะรัฐบาลเตรียมแผนเชิงนโยบายโดยเฉพาะแผนระยะกลาง และระยะยาว จำนวน 5 ข้อ ดังนี้ 1.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องกระแสเงินสด ควรวางแผนวงรอบการนำส่งรายได้จากหน่วยงานรัฐ รวมทั้งความจำเป็นต้องควบคุมการเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีเท่าที่จำเป็น และบริหารการนำส่งและการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณของทุนหมุนเวียนและกองทุนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดรับจ่ายของรัฐบาลจะช่วยลดผลกระทบการขาดดุลเงินสด และการใช้วงเงินตั๋วเงินคลังได้ดีขึ้น 2.การใช้นโยบายการคลังที่เป้าหมายทางเศรษฐกิจมหภาคเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง แม้ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากและใช้ระยะเวลา การหา Engine Growth ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน แต่ไม่ละเลยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังได้ อาทิ หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ธุรกิจรายย่อย ซึ่งจะไปลดทอนประสิทธิภาพกลไกการทำงานให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตตามที่ควรจะเป็น

นายกัมพล กล่าวต่อว่า 3.การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยคำนึงถึงโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การใช้งบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การจัดสรรงบรายจ่ายลงทุนมีสัดส่วนเพียงพอในการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน 4.พิจารณาทบทวนนโยบายในลักษณะประชานิยม หรือโครงการอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ หรือเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อลดผลกระทบของการก่อหนี้สาธารณะที่ไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และ 5.รัฐบาลต้องปฏิบัติตามกรอบการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล.