เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 4 ธ.ค. 67 ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … แถลงว่า ที่ประชุม กมธ. ได้ประชุมนัดสุดท้าย โดยสรุปรายงาน กมธ.ร่วมฯ เห็นชอบกับร่างกฎหมายประชามติของวุฒิสภา ที่ให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้นทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ คือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง โดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธาน กมธ. ลงนามในรายงานฉบับนี้แล้ว จะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ เบื้องต้นทราบว่า สว. จะนำเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 17 ธ.ค. นี้ ในขณะที่ สส. จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 18 ธ.ค. หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของทั้งสองสภา เชื่อว่า สส. และ สว. จะยืนยันจุดยืนตัวเอง ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ จะถูกแขวน 180 วัน จากนั้นหาก สส. ยังยืนยันในหลักการของตัวเอง จึงประกาศบังคับใช้ได้
เมื่อถามว่า การพักร่างกฎหมายฉบับนี้ 6 เดือน จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ทันในรัฐบาลหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า หากแก้ทั้งฉบับ ไม่ทันสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้แน่ นอกจากต้องรอ 180 วันแล้ว ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอีก 1 เดือน จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขณะที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องเชิญ กกต. และสำนักงบประมาณมาหารือจะใช้งบประมาณทำประชามติเท่าใด เพื่อส่งให้ ครม. ลงมติ จึงเข้าสู่ขั้นตอนทำประชามติ รวมแล้วใช้เวลาเกือบปี คาดว่าจะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญได้ ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 68 ถึงต้นเดือน ม.ค. 69 จึงได้แก้รัฐธรรมนูญตาม มาตรา 256 จึงไม่น่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ทันรัฐบาลชุดนี้ ส่วนการทำประชามติมองว่า ต้องทำ 3 ครั้งในการแก้รัฐธรรมนูญ
“ถึงแม้จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็มีเวลาไม่เยอะ อาจต้องขอเวลาคุยกับ สว. ให้การแก้ไขเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงอยากให้รัฐบาลมีร่างหลักในการแก้รัฐธรรมนูญในนามพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทางเดียวกัน” นายนิกร กล่าว
ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ในฐานะโฆษก กมธ. กล่าวว่า สว. ไม่ได้เหนื่อยฟรีในการแก้ไขกฎหมายประชามติ ต่างคนต่างเคารพความเห็นกันและกัน หากแก้ไม่ทัน ก็ต้องมาพิจารณาแก้รายมาตรา สว. ไม่ได้ยึดหลักเสียงข้างมากสองชั้นทั้งหมด หากจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ต้องดูจะแก้เรื่องใด ประชาชนมีส่วนร่วมมากแค่ไหน กรณีแก้มาตรา 256 สว. ยังไม่มีความเห็น แต่ สว. ไม่มีธง พร้อมรับฟังความคิดเห็น
นายกฤช เอื้อวงศ์ โฆษก กมธ. กล่าวว่า หากทำประชามติ 3 ครั้ง เคยประมาณคร่าวๆ จะใช้เวลา 2 ปี จะพ้นระยะเวลาสภาชุดนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด ช่วงเวลานี้จะมี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากทำประชามติ 2 ครั้ง เวลาจะสั้นลงอย่างน้อย 180 วัน อาจทันอายุสภาชุดนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้คำตอบสุดท้ายว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ส่วนการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วย หากไม่ได้รับความเห็นชอบ จะไปสู่ทางตัน.